ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้จะโตได้แค่ 3% ลดลงจากครั้งก่อนที่ให้ไว้ 3.4% แต่ยังไม่รวมผลกระทบการระบาดโควิด-19 รอบล่าสุดที่รุนแรงและมาเร็วกว่าที่คาด ทำให้เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงโตต่ำกว่า 3% ชี้ผลกระทบจากวิกฤติโควิดจนถึงขณะนี้ ทำจีดีพีไทยลดลงแล้ว 13% และต้องใช้เวลาฟื้นตัว 2–3 ปี รองผู้ว่าฯ วอนให้ระวังตัวแต่อย่าหยุดกิจกรรมเพื่อช่วยกันประคองเศรษฐกิจ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ล่าสุด ธปท.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงอีกครั้ง โดยจะขยายตัวได้เพียง 3% ลดจาก 3.4% ในประมาณการครั้งก่อน และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 4.7% โดยการปรับลดประมาณการครั้งนี้ มาจากผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจลดลง 1.1% และการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส เป็นไตรมาสที่ 4 ซึ่งมีผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงอีก 0.9% ขณะที่ปัจจัยบวก คือ ผลดีจากมาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ มีผลประคับประคองต่อเศรษฐกิจ 0.9% รวมทั้ง เศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ส่งผลให้การส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยได้อีก 0.9% แต่โดยรวมผลจากปัจจัยลบมีมากกว่าปัจจัยบวก
“การประมาณการครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมการระบาดระลอกนี้ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้มีความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทยสูงมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่า 3% แต่ผลกระทบของการระบาดรอบใหม่ หรือครั้งที่ 3 นี้จะรุนแรงแค่ไหน ยังต้องติดตามต่อไปอีกระยะ ทั้งนี้หากพิจารณาการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีนี้ พบว่าขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไตรมาส 1 ปี 63 ยังไม่เจอโควิด และหากพิจารณาไตรมาสต่อไตรมาสก็ติดลบจากผลของการระบาดโควิดระลอก 2 ส่วนไตรมาส 2 ปีนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามข้อมูลและสถานการณ์อีกครั้งหลังมีการระบาดรุนแรงในขณะนี้”
โดยในครั้งนี้ ธปท.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไว้กรณีเลวร้ายและกรณีเลวร้ายกว่าด้วย ซึ่งความเสี่ยงสำคัญคือ การระบาดของโควิด-19 ที่ชัดเจนว่าจะกลับมาระบาดอีกเมื่อไรก็ได้, ประสิทธิผลของวัคซีน, การกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ช่วงที่ทำประมาณเดือน มี.ค.การระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงในขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเราตั้งสมมติฐานไว้ 2 กรณีคือ กรณีสีส้มและสีแดง โดยกรณีสีส้ม ประมาณการว่า มีการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในครึ่งปีหลัง ทำให้การเปิดประเทศล่าช้าไปเป็นปี 65 ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลงกว่าที่คาดไว้ แต่หากกรณีสีแดงไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงจนวัคซีนปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล และเกิดระบาดทั่วโลกอีกครั้ง ขณะที่การเปิดประเทศจะเลื่อนไปเป็นปี 66 เศรษฐกิจไทยจะปักหัวตกลงไปต่ำสุดใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ปี 63 อีกครั้ง
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่า กนง.ประเมินว่า โควิด-19 ทำให้จีดีพีไทยลดลง 13% จากช่วงก่อนหน้า และจะใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 ปี ซึ่งต่ำกว่าความเสียหายในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเล็กน้อย และหลังวิกฤติจะสร้างแผลเป็นให้ภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน และภาระหนี้สินของลูกหนี้ มาตรการภาครัฐจึงต้องประสานกัน ทั้งนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการการเงินต้องทำให้ผ่อนคลายเพียงพอ มีการกระจายสินเชื่อได้เพียงพอและตรงจุด ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้เป็นอุปสรรค และให้สถาบันการเงินช่วยเหลือปรับโครงสร้างลูกหนี้ในวงกว้างได้ และดูแลให้ธนาคารพาณิชย์มีกันชนต่อความเสียหาย ในการช่วยเหลือลูกหนี้โดยไม่กระทบฐานะของธนาคารหรือเงินกองทุน
“สภาพคล่องในระบบไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาการกระจายสินเชื่อ ซึ่งจำเป็นมาก พราะต้องประคองเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ ซึ่งเดิมไตรมาส 2-3 ธปท.มองถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเติมเม็ดเงินให้กลับมาลงทุน แต่เมื่อมีการระบาดรุนแรงระลอก 3 ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์และประเมินใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ธปท.ยังคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ความต่อเนื่องของมาตรการทั้งการเงินการคลังจึงจำเป็น เพราะไตรมาส 4 จะเป็นจุดสำคัญที่เห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างไร”
โดย ธปท.พร้อมใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม หากเกิดกรณีเลวร้าย รวมทั้งใช้นโยบายสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งสินเชื่อเอสเอ็มอียังคงหดตัว และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ต้องมีมาตรการรองรับในส่วนที่ฟื้นช้า ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ออกมาแทนซอฟต์โลนเดิม 250,000 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยออกเป็นช่วงๆ ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ 100,000 ล้านบาท คาดจะมีการใช้ 30,000-50,000 ล้านบาท ในช่วงแรก
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กล่าวว่า การประมาณการล่าสุดยังไม่คิดว่าจะมีการระบาดรอบนี้ โดยการประเมินกรณีเลวร้ายหรือกรณีเลวร้ายกว่านั้น ธปท.มองว่าอาจมีการระบาดรอบ 3 ในครึ่งหลังของปี แต่ขณะนี้มาเร็วกว่าที่คาด จะต้องดูว่ารัฐบาลจะออกมาตรการคุมเข้มเพิ่มเติมแค่ไหน แต่ด้านพฤติกรรมของคน ยอมรับว่าการใช้จ่ายและท่องเที่ยวคงลดจากที่คาดไว้เดิม ซึ่งช่วงนี้ต้องการ์ดสูงไม่ประมาท แต่ไม่ใช่หยุดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องไปได้.