ลุ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้าถูกลง 30% “ศักดิ์สยาม” คืนชีพตั๋วร่วม-พ.ร.บ.ขนส่งทางราง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุ้นค่าตั๋วรถไฟฟ้าถูกลง 30% “ศักดิ์สยาม” คืนชีพตั๋วร่วม-พ.ร.บ.ขนส่งทางราง

Date Time: 11 ก.พ. 2564 08:08 น.

Summary

  • “ศักดิ์สยาม” ย้ำสิ้นปีนี้ทำคลอด ”ตั๋วร่วม”-พ.ร.บ.กรมขนส่งทางราง” ช่วยคุมค่าโดยสารรถบริการสาธารณะทั้งระบบให้ถูกลง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่เตรียมยกเลิกค่าแรกเข้า

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

“ศักดิ์สยาม” ย้ำสิ้นปีนี้ทำคลอด ”ตั๋วร่วม”-พ.ร.บ.กรมขนส่งทางราง” ช่วยคุมค่าโดยสารรถบริการสาธารณะทั้งระบบให้ถูกลง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่เตรียมยกเลิกค่าแรกเข้า จากที่เรียกเก็บเฉลี่ยเที่ยวละ 14-16 บาท ทำให้ค่าบริการถูกลง 30% แต่ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับราคารถไฟสายสีเขียว เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ เป็นสัมปทานของบีทีเอสกับ กทม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อร้องเรียนว่าราคาค่าบริการขนส่งในระบบรางโดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ให้บริการในปัจจุบันมีราคาที่สูงเกินไปและส่งผลต่อค่าครองชีพ เรื่องนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมราคาค่าโดยสารได้ ทั้งๆที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล การคมนาคมขนส่งทุกระบบ เนื่องจากยังมีปัญหาด้านกฎหมาย แต่ก็มีความตั้งใจเข้าไปคุมราคาค่า โดยสารรถไฟฟ้าที่ให้บริการในปัจจุบัน และโครงข่าย รถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้โดยสาร บนพื้นฐานราคาที่ใช้บริการจริงตามระยะทางหรือที่ 14-45 บาทต่อคนต่อเที่ยวแนวทางที่สามารถคุมราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้าทุกระบบได้ คือการนำระบบตั๋วร่วมเข้ามาใช้กับการบริการขนส่งสาธารณะในทุกประเภท ซึ่งตามกรอบเวลาการใช้ตั๋วร่วมจะเริ่มขึ้นจริงในสิ้นปีนี้ โดยระยะแรกตั๋วร่วมจะใช้กับระบบรถไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันภายใต้ การกำกับของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ก่อน และในอนาคตจะใช้ในระบบขนส่งโลจิสติกส์ทั้งหมด

“กรณีที่มีคนร้องเรียนผ่านองค์กรผู้บริโภค ต่างๆว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีราคาแพง ผมจะเข้าไปมีบทบาทอย่างไร ต้องเข้าใจ ว่าเนื่องจาก ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่ให้บริการมีหลายระบบ หลายสัมปทานผู้ให้บริการ เมื่อผู้โดยสารเดินทาง และมีการต่อรถไฟฟ้าระหว่างระบบผู้โดยสารจะเสียค่าแรกเข้าระบบที่ 14-16 บาท แต่หากเมื่อนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ ปัญหาเรื่องค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้าจะหมดไปทันที การเชื่อมต่อระหว่างระบบ ก็จะไม่คิด ค่าแรกเข้า ซึ่งหมายถึงค่าโดยสารระบบรางจะถูกลงกว่าปัจจุบันทันที ซึ่งการเชื่อมต่อระหว่างระบบจะไม่คิดค่าแรกเข้า จะทำให้ค่าโดยสารระบบรางถูกลงกว่า 30%”

ในอนาคตหากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. ...ของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ออกมามีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ได้ในสิ้นปีนี้ ขร.จะมีอำนาจโดยตรงที่จะเข้าไป กำกับดูแลการบริการคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมด เช่นการกำหนดและวางหลักเกณฑ์ กำหนดการคำนวณ ราคาค่าโดยสาร ความถี่เที่ยววิ่งที่ให้บริการ และจำนวนตู้ ที่ให้บริการเหมาะกับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ ทำให้ ขร. สามารถกำกับดูแล ค่าโดยสารให้ประชาชนที่ใช้บริการได้ประโยชน์มากที่สุดและเบ็ดเสร็จ

ทั้งนี้ เรื่องของระบบรางอื่นๆที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม กระทรวงฯ ก็ไม่สามารถที่จะบังคับในเรื่องของการจัดเก็บค่าโดยสารให้ เหมือนกับราคาค่าโดยสารระบบราง ที่ให้บริการในกำกับของกระทรวงได้ นอกจากจะมีการเจรจาเป็นรายสัมปทานๆไป

“หากในอนาคตมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงขอยืนยันว่าตนมีนโยบายอย่างชัดเจนว่าในแต่ละสัญญาสัมปทานที่จะเกิดขึ้น ในโครงข่ายระบบรางทั้งหมดหลังจากนี้ หน่วยงานที่กำกับตรงซึ่งเป็นคู่สัญญานั้นๆ ต้องมีการระบุอย่างชัดเจนในสัญญาแนบท้ายหรือข้อเสนอโครงการ Request for Proposal (RFP) ว่า การกำหนดราคาค่าโดยสาร หรือเปลี่ยนแปลงราคา จะต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าของสัญญา และกระทรวงก่อนที่จะมีการปรับราคาค่าโดยสาร และการคำนวณการจัดเก็บค่าโดยสารจะต้องขึ้นอยู่กับ ขร.ที่เป็นผู้กำกับดูแล”

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดที่จะขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทาง อ่อนนุช-หมอชิต ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงในปี 2572 ต่อไปอีก 30 ปีเพื่อแลกกับการจัดเก็บค่าโดยสารเฉลี่ยรวมส่วนต่อขยายจากช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-คูคต ในราคาเฉลี่ยที่ 65 บาท ตนเห็นว่า เส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ต้องถือว่าไม่ได้เป็นสัญญาสัมปทานเดิม และไม่ได้เป็นสัญญาเดียวกัน หากจะมาบอกว่าเป็นส่วนต่อขยายจากสัญญาเดิมตามความเป็นจริงก็ไม่ใช่ เพราะเป็นคนละสัญญา กรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย ต้องดูข้อกฎหมายให้ดี จะมารวมเป็นส่วนต่อขยายจากสัมปทานเดิมไม่ได้

ดังนั้น เมื่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงอ่อนนุช-หมอชิต จะหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของรัฐทันทีจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งต่อสัญญาสัมปทาน ในเมื่อเส้นทางช่วงดังกล่าวถือเป็นไข่แดง หากภาครัฐเปิดประกาศเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มั่นใจว่าจะมีเอกชนเข้ามาลงทุนและทำรายได้ให้กับรัฐจำนวนมหาศาล

“นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นอย่างมาก ก็ได้อธิบายว่าการคำนวณหากในส่วนของกระทรวง ที่ รฟม.ดำเนินการจะคำนวณราคาที่ 1.45 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ขณะที่กรุงเทพมหานครคำนวณที่ 3 บาทต่อสถานี ทำให้ในส่วนของ รฟม.คำนวณต่ำกว่าก็ยังอยู่ได้ เพียงแต่ต้องทำตามกฎหมายเท่านั้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ