ยื้อแผนฟื้นฟูฯขสมก. ถ่วง!ความสุขคนกรุง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยื้อแผนฟื้นฟูฯขสมก. ถ่วง!ความสุขคนกรุง

Date Time: 21 ธ.ค. 2563 05:04 น.

Summary

  • ผ่านมาหลายยุคหลายรัฐบาล ทั้งที่เรื่องไม่ยากและสำคัญ มีผลกับคุณภาพชีวิตประชาชนหลายล้านคนครั้นพอจะมีความหวังพึ่งพิงรัฐบาลลุงตู่ปัดเป่าปัญหาเรื้อรัง

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

“เราจะสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ใน 7 ปี”...ความฝันของใครบางคน กับภาพเปรียบเทียบในโลกออนไลน์คนไทยนั่งรถเมล์เก่าๆผุๆพังๆ พร้อมแคปชันคำบรรยาย...“ความจริงที่คนไทยเจอ” ช่างสะท้อนช่องว่างความแตกต่างราวฟ้ากับเหว

กระแสโซเชียลกระหน่ำหนักตอกกลับ ส่วนใหญ่มีความเห็นกับเรื่องนี้ไปใน “ทางลบ”

เช่น “เพ้อเจ้อ...แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านให้ได้ก่อน”... “ส่งเสริมคนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้าก่อน...แก้ปัญหา PM2.5 ได้ด้วยขอร้อง” และนับรวมไปถึง “รถเมล์เน่าๆ อายุ 30 ปี วิ่งพ่นฝุ่นเกลื่อนเมือง...ยังไม่มีปัญญาแก้ จะไปอวกาศบ้าไปแล้ว”

โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทุกลมหายใจยังต้องพึ่งพาบริการรถเมล์ ขสมก. ทุกเช้าค่ำต้องอดทนฝืนใจจ่ายค่ารถเมล์ 60-70 บาท ต่อวันไม่คุ้มกับที่ต้องนั่งรถเน่าๆ ไร้ความปลอดภัย วิ่งพ่นฝุ่น PM2.5 กันต่อไป...ทั้งๆที่ปัญหานี้หนักหนาแสนสาหัส แต่...ไร้การเยียวยา หมักหมม

ผ่านมาหลายยุคหลายรัฐบาล ทั้งที่เรื่องไม่ยากและสำคัญ มีผลกับคุณภาพชีวิตประชาชนหลายล้านคนครั้นพอจะมีความหวังพึ่งพิงรัฐบาลลุงตู่ปัดเป่าปัญหาเรื้อรัง แต่แล้วก็ยังต้องร้องเพลงรอกันต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เมื่อ แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ถูกกระทรวงการคลังยื้อไว้

ทั้งๆที่แผนฉบับล่าสุดที่ว่านี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ แต่ทำไมกระทรวงการคลังซึ่งมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นเจ้ากระทรวงฯกลับขัดใจลุงตู่ไม่เร่งสานฝันนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

กระทรวงการคลังเป็นหนึ่งในกระทรวงหลัก ร่วมประชุมหลายครั้งจนอนุมัติแผนฟื้นฟู ขสมก.มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเด็นน่าสนใจมีว่าคำตอบที่ได้กลับไม่ได้รับจากนายอาคม?

แต่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ขันอาสาตอบแทนให้รู้ว่า...

การเสนอแผนฟื้นฟู ขสมก.ขั้นตอนนี้เราต้องรอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือตอบกลับมาให้กระทรวงคมนาคม สำหรับชี้แจงข้อสงสัยต่างๆจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบว่ามีคำถามจากกระทรวงการคลังมีความเห็นเกี่ยวกับการบริหารหนี้

“ปัญหาความล่าช้าดังกล่าว ได้แจ้งให้พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ซึ่งท่านนายกฯ ได้เร่งรัด สลค.ให้รีบดำเนินการ เนื่องจากขณะนี้ถือว่าล่าช้าหลุดกรอบเวลาดำเนินการตามแผนไปแล้ว จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะสามารถนำรถเมล์ไฟฟ้าอีวีลอตแรก 400 คันเข้ามาให้ บริการประชาชนได้ในเดือนมีนาคมไปจนครบ 2,511 คันในอีก 7 เดือนหรือกันยายนปี 2564”

นั่นหมายความว่า คนไทยยังต้องรอลุ้นว่าจะได้นั่งรถเมล์ใหม่ไฉไลกว่าเก่ายกระดับมาตรฐานชีวิตเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า...ไม่พ่นควันพิษไร้ฝุ่น PM2.5...ค่าโดยสารเหมาจ่ายทั้งวัน 30 บาท...จะขึ้น จะลงกี่สายกี่เที่ยวตามใจไม่มีอั้น และ 15 บาท ในกรณีที่นั่งขาเดียว...ลดภาระไม่ใช่แค่คนกรุงฯ หรือนิสิตนักศึกษาเท่านั้น

ยังลดค่าใช้จ่ายให้พี่น้องต่างจังหวัดที่เข้ามาขายแรงงานใน กทม.มีเงินเหลือโอนส่งกลับบ้านเกิดสามารถเยียวยาพ่อแม่ลูกหลาน ช่วยลดปัญหาสังคมได้แบบครบวงจร

เหลียวมองไปที่กลุ่มผู้โดยสารรายได้น้อยที่เคยใช้บริการ “รถร้อน” สามารถใช้สิทธิบัตรสวัสดิการคนจนเพื่อไม่ให้มีภาระเพิ่ม ไม่ต้องมีการแบ่งแยกชนชั้น รถร้อน...รถแอร์ตามรายได้เหมือนปัจจุบัน ดีต่อใจ

และที่เป็นผลดีสุดๆต่อประเทศชาติและส่วนรวมคือ การลงทุนทั้งหมด ไม่ได้ใช้เงิน “งบประมาณ” หรือ “เงินภาษี” ของพ่อแม่พี่น้องคนไทยทั้งประเทศ เพราะงานนี้เอกชนลงทุนเองทั้งหมดตั้งแต่จัดซื้อค่ารถโดยสารคันใหม่ ค่าซ่อมบำรุง ค่าบริการคลื่นสัญญาณไวไฟ อินเตอร์เน็ตบนรถทุกคัน

ที่สำคัญ...องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจะกลับมาเป็นไทยไร้การขาดทุนไร้หนี้ไร้สิน ไร้ปัญหาคอร์รัปชันให้เสื่อมเสียได้ใน 7 ปี ไม่มีการกู้เงินจากคลังมาซื้อรถใหม่ที่อาจไม่ได้คุณภาพเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ถึงตรงนี้...เมื่อแผนฟื้นฟูฯ ดีเลิศขนาดนี้แล้ว จึงมีคำถามตามมาว่า แล้วทำไม? ใครกัน? เป็นตัวถ่วง...เตะตัดขา แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เดินหน้าไปสู่การปฏิบัติ?

ทั้งๆที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ใช้เวลาพิจารณากลั่นกรองซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบจนได้แผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับล่าสุดนำส่งให้คณะรัฐมนตรี ครม.พิจารณานานกว่า 2 เดือนแล้ว แต่เรื่องกลับเงียบสนิทไร้เสียงตอบรับ ยังคงค้างเติ่งถูกดองเค็มอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ด้วยมี...ข้ออ้างกระจิริดว่ากระทรวงการคลัง ยังหาทางออกเรื่องหนี้เก่าของ ขสมก.ไม่ได้...ก็เลยปล่อยเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ปล่อยให้ ขสมก.ก่อหนี้ใหม่ ซ้ำซ้อนซ้ำซากไปเรื่อยๆ

ท่ามกลางบรรยากาศพ่วงแถมปล่อยให้ชาวบ้านสูดดม PM2.5 ต่อไป ปล่อยให้ชาวบ้านที่ต้องเดินทางหลายต่อหลายเที่ยวนั่งรถเน่าๆ แบกภาระค่าโดยสารวันละกว่าร้อยบาทไปอย่างไม่มีกำหนด

ฉายภาพตอกย้ำประเด็น...ความล่าช้าการเสนอแผนฟื้นฟู ขสมก.กับข้อข้องใจเรื่องหนี้สินเดิมของ ขสมก.ที่ถูกตั้งเป็นสาเหตุแห่งความล่าช้านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่?

หรือว่า...มีขบวนการเตะตัดขาถ่วงความเจริญของประเทศชาติและสังคมคนกรุงฯ

วีระศักดิ์ ยอดอาจ นักกฎหมายที่ปรึกษาชมรมสื่อออนไลน์เพื่อสังคมไทย หนึ่งในผู้ที่เกาะติดสารพันปัญหาเรื่องราวมหากาพย์ ขสมก.มองเรื่องนี้ว่าในประเด็นเรื่องภาระหนี้สินเก่าของ ขสมก.ที่กระทรวงการคลังอ้างถึงนั้น และที่สภาพัฒน์ไม่มั่นใจว่า ขสมก.จะพลิกกลับมามีกำไรได้ใน 7 ปี

อันที่จริง...ทั้งสองเรื่องนี้มีการถกเถียงจนตกผลึกไปนานแล้วจะหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุของความล่าช้ากันเพื่ออะไร? หรือ...ถ้าทั้งสองเรื่องนี้เป็นเหตุผลจริงๆ ผมขอถามว่า...เรื่องหนี้ก้อนเดิมของ ขสมก.ภาระหน้าที่
ยังไงกระทรวงการคลังก็ต้องหาทางบริหารจัดการอยู่วันยังค่ำ

“ถ้านายอาคมหาทางออกไม่ได้...ถามว่าหนี้สินจากการกู้ยืมเงินของรัฐบาล นายอาคมบริหารยังไงไม่ทราบ? ส่วนเรื่องไม่มั่นใจ ขสมก.ว่าจะมีกำไรใน 7 ปีหรือไม่ ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า...ตั้งแต่ก่อตั้ง ขสมก.มากว่า 44 ปี ขสมก.เคยมีกำไรมั้ย?”

หน้าที่หลักของ “ขสมก.” คือให้บริการประชาชนที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของสังคมโดยต้องคำนึงถึงการบริการ ความปลอดภัยของประชาชน ไม่ใช่เพื่อการแสวงหากำไรบนภาระของประชาชน แต่ต้องมีแผนที่กำกับดูแลองค์กรให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

อีกอย่างแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับล่าสุดนี้ มีข้อไหนที่ ขสมก.แบกต้นทุนหนักกว่าเก่า...หรือแทบจะไม่ต้องแบกเลยด้วยซ้ำ ถ้าจะห่วงอย่าไปห่วงที่นโยบายหรือที่แผน ต้องห่วงที่คณะผู้บริหารหรือกลุ่มบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นบอร์ด ขสมก. ถ้าบริหารตามแผนฟื้นฟูแล้วยังเจ๊งยังก่อหนี้สินได้อีก ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว...

“แผลเน่าล่าสุดที่กำลังฉาวโฉ่จนทำให้นายกรัฐมนตรีนั่งไม่ติด ต้องสั่งสอบสวนโครงการจัดซื้อรถบัสปรับอากาศของกองทัพบก 7ลอต 429 คัน 2,250 ล้านบาท ขอฝากถามไปยังรัฐบาลว่าระหว่างรถบัสขนส่งทหารกับรถเมล์โดยสารของประชาชน รถคันไหนสำคัญกว่ากัน...” วีระศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ