จากพลังงานสู่ "Life Science" ธุรกิจใหม่ของ "ปตท." ที่มีสุขภาพและชีวิตคนไทยเป็นแรงบันดาลใจ

Economics

Thailand Econ

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

จากพลังงานสู่ "Life Science" ธุรกิจใหม่ของ "ปตท." ที่มีสุขภาพและชีวิตคนไทยเป็นแรงบันดาลใจ

Date Time: 4 ธ.ค. 2563 06:01 น.
Content Partnership

Summary

  • เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “ปตท.” แทบทุกคนก็มีภาพจำว่าเป็นบริษัทด้านพลังงานของประเทศไทย น้อยคนนักจะทราบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ในกลุ่ม "Life Science"

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “ปตท.” แทบทุกคนก็มีภาพจำว่าเป็นบริษัทด้านพลังงานของประเทศไทย น้อยคนนักจะทราบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ในกลุ่ม "Life Science" ที่แม้คนในแวดวงธุรกิจจะกล่าวถึงอย่างย่อว่า “ธุรกิจยา” แต่ในความเป็นจริงก็มีความหมายกว้างและครอบคลุมอีกหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุขภาพ ในวันที่พร้อมขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มรูปแบบ กับการเปิดตัวบริษัท “Innobic (ASIA)” เพื่อดำเนินธุรกิจนี้ “ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เอ่ยถึงทิศทางที่น่าสนใจผ่านวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่สำคัญ ว่าทำไม “Life Science” จะเป็นอีกธุรกิจที่เติบโตขึ้นได้อย่างสวยงามในโลกยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็คืนคุณค่าสู่สังคมและคนไทยไปพร้อมกันด้วย

ทำไม Life Science จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับ ปตท.

หากวิเคราะห์ถึงอนาคตแล้วจะพบว่า โลกอันใกล้นี้มีเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของมนุษยชาติด้วยกัน 3 หมวด นั่นคือ ดิจิทัล, วัสดุล้ำสมัย (Advance Materials) และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่ง ดร.บุรณิน เอ่ยว่าไม่เพียงแค่เปลี่ยนชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปพร้อมกันด้วย ดังที่เราได้เห็นแล้วในวันนี้ว่า ดิจิทัลเองก็เป็นหมวดหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนหลายต่อหลายเรื่องในชีวิตประจำวัน รวมถึงระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ Advance Materials หรือ วัสดุล้ำสมัย ก็เริ่มแสดงบทบาทมากขึ้นในภาคการผลิตและเวทีเศรษฐกิจ สังเกตได้จากเทรนด์ในอนาคตซึ่งจะมีการใช้พลาสติกคุณภาพสูงที่มีน้ำหนักเบา แต่ขึ้นรูปง่ายและทนทานสำหรับการผลิตต่างๆ ส่วนในหมวดเทคโนโลยีชีวภาพนั้น ก็เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องพลังงานและพลาสติกชีวภาพ ไปจนถึงอาหารเพื่อสุขภาพและยารักษาโรค ซึ่งนับได้ว่ามีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะส่วนหนึ่งกับการมาถึงของสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

การก้าวเข้าสู่ธุรกิจ “Life Science” ของ “ปตท.” จึงเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในการมองเห็นโอกาสจากเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป โดยต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิมไปจนถึงการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจด้านนี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นความปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาชาติ ผ่านการมอบคุณค่าให้กับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ในวันที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ “Thailand 4.0” ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น “New S-Curve” ของประเทศ การวางแผน กำหนดวิสัยทัศน์ และโครงสร้างการลงทุนทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไปอย่างมีทิศทาง ทั้งนี้ ดร.บุรณิน เชื่อมั่นว่า “Life Science” คือธุรกิจที่มาพร้อมโอกาสในความเป็นไปได้นั้น ขณะเดียวกันก็ยังสอดคล้องกับทรัพยากรและการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศไทย รวมถึงสอดรับไปกับการเดินไปข้างหน้าของโลกใบนี้ และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม “Life Science” จึงเป็นธุรกิจที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ย่างก้าวที่สำคัญของ ปตท. ในธุรกิจ “Life Science”

เรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยยังเป็นอีกแรงบันดาลใจหนึ่งของการเดินหน้าสู่ธุรกิจนี้ด้วย เพราะหากบริษัทของคนไทยมีความสามารถในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ได้จากภายในประเทศ ก็จะช่วยลดการนำเข้าเวชภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นจากต่างประเทศได้ ในขณะเดียวกันคนไทยเองก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การเดินหน้าในธุรกิจนี้จึงมีความจำเป็นและมีความหมายไปพร้อมกัน นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และองค์การเภสัชกรรม ทำข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมุ่งเน้นไปที่ยารักษาโรคมะเร็ง โดย ปตท. ยังได้ลงนามในสัญญาที่จะพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ทั้งยาเคมีและชีววัตถุเพื่อทดแทนการนำเข้า ในขณะเดียวกันก็เตรียมจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนายา และเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง อาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงผลิตภัณฑ์โภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติจัดตั้ง “บริษัท อินโนบิก เอเชีย” หรือ Innobic (ASIA) ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายเอาไว้ว่าภายในปี 2564 นี้จะมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งการคัดเลือกบอร์ดของบริษัทจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายของบริษัท รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชภัณฑ์ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายการวิจัยพัฒนาและผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ อาทิ ยา หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง อาหารเพื่อสุขภาพ ให้ได้ภายในปี 2565

“จริงๆ แล้วถ้ามองตลาดแล้วจะพบว่าตลาดยาเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่สิ่งที่เรากำลังทำไม่ใช่การทำเพื่อการแข่งขัน แต่จะเป็นการร่วมไม้ร่วมมือกัน ถ้าเทียบกับตลาดโลกแล้ว บริษัทยาในประเทศไทยนั้นถือว่าเล็กมาก เพราะฉะนั้นทิศทางที่เราจะเดินไปข้างหน้า คือการจับมือกัน และเป็นการร่วมมือกันของคนทุกกลุ่มในการพัฒนา ตั้งแต่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายที่จะเข้ามาดูแลความต่อเนื่องของการทำธุรกิจด้านนี้ เพราะธุรกิจนี้คือการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความสำเร็จในอนาคต แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสิ่งที่เราเลือกทำ ก็เป็นสิ่งที่คิดว่าประเทศจะได้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยาในประเทศด้วยเช่นกัน”


Author

Content Partnership

Content Partnership