เปิดแนวคิด "วังจันทร์วัลเลย์" กับภารกิจสร้างชาติด้วยนวัตกรรม

Economics

Thailand Econ

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

เปิดแนวคิด "วังจันทร์วัลเลย์" กับภารกิจสร้างชาติด้วยนวัตกรรม

Date Time: 26 พ.ย. 2563 17:00 น.
Content Partnership

Summary

  • เมื่อเอ่ยถึง “เมืองแห่งนวัตกรรม” เราอาจนึกไปถึง “ซิลิคอนวัลเลย์” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดเทคสตาร์ทอัพชื่อดังมากมาย หรือในจีนก็มี “เซินเจิ้น” ที่สามารถผลักดันตัวเอง

เมื่อเอ่ยถึง “เมืองแห่งนวัตกรรม” เราอาจนึกไปถึง “ซิลิคอนวัลเลย์” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นกำเนิดเทคสตาร์ทอัพชื่อดังมากมาย หรือในจีนก็มี “เซินเจิ้น” ที่สามารถผลักดันตัวเองสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและการออกแบบชั้นนำของประเทศด้วยนโยบายที่เข้มแข็ง

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย แม้เราอาจมองว่าการพัฒนานวัตกรรมเป็นเรื่องที่ยากเกินไปหรือเปล่า แต่ห่างจากกรุงเทพฯไปเพียง 160 กิโลเมตร ในพื้นที่ 3,454 ไร่ ของอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บริเวณนี้คือที่ตั้งของโครงการ “วังจันทร์วัลเลย์” เมืองหลวงแห่งนวัตกรรมที่พร้อมจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมสากล

“วังจันทร์วัลเลย์” คือฐานที่มั่นสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป้าหมายสำคัญของโครงการคือมุ่งผลักดันนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดให้กลายเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เชื่อมโยงสู่การใช้งานจริงกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เน้นเป็นพิเศษกับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

- เกษตรสมัยใหม่
- เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
- แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่
- ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- เทคโนโลยีการบินและอวกาศ
- เครื่องมือแพทย์

ซึ่งความสำเร็จจากงานวิจัยจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจมวลรวม และยังสร้างโอกาสในการเปลี่ยนไทยให้กลายเป็นประเภทผู้ผลิตนวัตกรรม แทนที่จะเป็นเพียงประเทศผู้ซื้อนวัตกรรมเช่นที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดปัจจัยเกื้อหนุนหลากหลายด้าน และเพื่อการนั้น พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์จึงถูกออกแบบด้วยแนวคิด Smart Natural Innovation Platform เพียบพร้อมด้วยการอำนวยความสะดวกทั้งด้านการทำงานและการใช้ชีวิต แบ่งออกเป็น 3 โซน เชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ ครบถ้วนทั้งการให้ความรู้ ต่อยอดสู่การวิจัย และพื้นที่สำหรับผ่อนคลายให้กับทุกชีวิตในวังจันทร์วัลเลย์และชุมชนใกล้เคียง

1. พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone)

การจะก้าวไปยืนบนเวทีโลกในฐานะผู้ผลิตนวัตกรรม บุคลากรที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักวิจัย และหนทางที่จะดึงดูดคนเก่งที่มีความสามารถเอาไว้ได้ก็คือการมีสถาบันที่พร้อมรองรับ ทั้งการมอบความรู้ และการเปิดพื้นที่ให้สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ไปต่อยอด

ซึ่งวังจันทร์วัลเลย์ ก็เป็นที่ตั้งของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันแนวคิดใหม่เพื่อบุคลากรวิทยาศาสตร์ มีทุกองค์ประกอบที่จะช่วยพัฒนาคนให้เติบโตไปบนเส้นทางสายนวัตกรรม เช่น บรรยากาศที่รายล้อมด้วยธรรมชาติ การมอบทุนการศึกษาแบบไม่มีข้อผูกมัด อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการที่ล้ำสมัย คณาจารย์ผู้มีความสามารถ และการตั้งอยู่ในพื้นที่ EECi ซึ่งมีส่วนช่วยให้นักวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจสามารถเชื่อมโยงเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งผลจากการพัฒนาอย่างเป็นระบบ แม้จะผ่านมาเพียงแค่ 5 ปีนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี แต่ผลงานจากนักวิจัยของสถาบันก็เริ่มเป็นที่เด่นชัดในวงการวิทยาศาสตร์ไทยและระดับโลกมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ที่สำคัญที่มีส่วนช่วยในการต่อยอดการเรียนรู้ก็คือ “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” พื้นที่สีเขียวยั่งยืนครอบคลุมบริเวณ 351.36 ไร่ สำหรับการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการป่าไม้ ทั้งการเรียนรู้และศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ระบบบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ป่าปลูกสำหรับงานวิจัยต่างๆ

และ “ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา” เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่เกษตรโดยใช้แนวคิดวนเกษตร เกษตรผสมผสาน ใช้พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ที่จะยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบ Smart Farming เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียนและผู้ที่สนใจทั่วไป

2. พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone)

เพื่อที่จะบริหารจัดการระบบต่างๆ ในวังจันทร์วัลเลย์ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) จึงได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการควบคุมระบบทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษาและการใช้งานจริงกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นในโซนนี้จะเป็นที่ตั้งของอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของ สวทช. ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS), เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS), เมืองนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS) และ เมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐ บริษัทในกลุ่ม ปตท. และภาคเอกชนอื่นๆ เข้าร่วมพัฒนาพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนที่รอการพัฒนา โดยผู้ที่สนใจเข้ามาใช้งานพื้นที่ของวังจันทร์วัลเลย์จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยเกื้อหนุนในงานวิจัยหลายประการ เช่น

- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี
- ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ
- ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย
- สมาร์ทวีซ่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว
- พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox)
- ศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service)

นอกจากนั้นยังจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของ ปตท. ให้สามารถใช้งานระบบ “5G Playground” เพื่อการทดลอง ทดสอบนวัตกรรมที่จำเป็นต้องใช้โครงข่าย 5G เช่น อุปกรณ์ IoT ต่างๆ หรือระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะในหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงจะสามารถใช้งาน “UAV Regulatory Sandbox” หรือการอนุญาตให้สามารถบินโดรนเพื่อการวิจัยนวัตกรรมได้ในพื้นที่ของวังจันทร์วัลเลย์เป็นกรณีพิเศษ เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน

3. พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone)

ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ดังนั้นมุมสำหรับผ่อนคลายจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญซึ่งถูกออกแบบมาอย่างประณีต เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ใช้ชีวิตภายในวังจันทร์วัลเลย์ทุกคนจะมีความสุข สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างสุดความสามารถ

ในโซนนี้จะประกอบไปด้วย พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและสันทนาการ สถานที่ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียวเพื่อความยั่งยืน สถานที่พบปะสังสรรค์ โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้สามารถมุ่งมั่นกับงานนวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่นๆ

สิ่งที่น่าจับตาหลังจากนี้คืออนาคตของไทยในเวทีนวัตกรรมโลก ที่มี EECi และวังจันทร์วัลเลย์เป็นฟันเฟืองสำคัญ ผลักดันให้นักวิจัยไทยไปได้ไกลกว่าที่ผ่านมา เพราะแม้ว่าการวิจัยในห้องปฏิบัติ และการออกแบบไอเดียเริ่มต้นเราจะทำได้ไม่แพ้ใคร แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการเปลี่ยนผ่านงานวิจัยเหล่านั้นให้สามารถนำมาใช้งานจริงได้ ซึ่งความใกล้ชิดของวังจันทร์วัลเลย์กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมใน EEC จะทำให้การเชื่อมโยงเป็นไปอย่างลื่นไหล มีประสิทธิภาพ และรับประกันได้ว่าจะตอบโจทย์การใช้งานจริง

โดยหลังจากที่พื้นที่ทั้งหมดถูกพัฒนาจนแล้วเสร็จภายในปี 2564 ทางด้าน ปตท. ก็จะเร่งสร้างระบบ Ecosystem เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นตัวกลางในการมองหาพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เอื้อกับการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต


Author

Content Partnership

Content Partnership