นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ตนกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงสิ้นปีนี้ หรือไตรมาส 4 เพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่ให้ประชาชนและเร่งออกมาตรการทางการคลัง เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน หลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการสนับสนุน การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งที่สามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ดี จึงต้องดึงจุดแข็งตรงนี้มาใช้ดึงดูดนักลงทุน คาดว่านักลงทุนที่เข้ามาจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.นักลงทุนโดยตรง 2.เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการลงทุนด้วย (investment tourism) ซึ่งหมายถึงการเข้ามาเที่ยวเมืองไทยในระยะยาว และมองเห็นโอกาสในการลงทุนทำให้กระทรวงการคลังต้องออกมาตรการที่จูงใจเพื่อเอื้อการลงทุนให้ 2 กลุ่มนี้ด้วย
“ผมจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน ทั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และได้ให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อติดตามโครงการลงทุนต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้”
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค.นี้ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะพิจารณา แต่ตามหลักการควรกำหนดระยะเวลาการพักชำระหนี้อย่างมีขอบเขต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดวินัยในการชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียสะสม หลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ควรต้องใช้มาตรการปรับ 2 ต่อ ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน และปรับโครงสร้างธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
“ผู้ประกอบการพักชำระหนี้ต้องมีระยะเวลาที่แน่นอน หากยืดเวลาพักชำระหนี้ต่อผู้ประกอบการก็จะไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้มอบให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปหารือแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ และการปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาว ส่วนปัญหาทางการเมืองขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ เชื่อว่าธุรกิจที่ดำเนินอยู่ก็ต้องเดินต่อไป เพราะทุกวินาทีเป็นเงินเป็นทอง ไม่มีใครอยากเสียเวลาแม้แต่วินาทีเดียว ส่วนจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ ตอบไม่ได้”.