นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. (เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงาน Thailand Clean Energy Network 2020 ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้า ประสานความร่วมมือขับเคลื่อนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายเร็วกว่ากำหนด ผ่านมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้า และการส่งเสริมการซื้อขายใบรับรองการผลิตเครดิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC)
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เผยว่าภายในงาน กฟผ. ยังได้เปิดตัวธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียน (REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC ที่ กฟผ. ได้รับสิทธ์จาก The International REC Standard (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยคาดว่าธุรกิจ REC จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรม
จากความสำเร็จลดก๊าซเรือนกระจกไทย กฟผ. เดินหน้าเปิดซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC)
ด้านนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน อภิปรายภายในงานว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการด้านการบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจก 4 ด้านสำคัญได้แก่
ด้านนโยบายและแผนพลังงาน ช่วยประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 ได้ประมาณ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า ภายในปี 2573 คาดจะลดได้ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ด้านการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะประเมินตามแนวทางการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ IPCC และการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน ISO 14064-1
ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ช่วยประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกเฟสแรกได้ก่อนเวลาที่ NAMA/ COP21 กำหนด จากการขับเคลื่อนมาตรการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการติดฉลากอุปกรณ์เบอร์ 5 ที่ทำมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ กฟผ. ลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (กฟผ. และ IPP) ประจำปี 2562 ได้รวม 10.03 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อันเป็นผลมาจากความร่วมมือของ กฟผ. และภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้า
ด้านการประสานความร่วมมือ โดยสร้างภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้าที่ประสานความร่วมมือเพื่อช่วยขับเคลื่อนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย
โดยผลการลดดังกล่าวได้นำส่งกระทรวงพลังงาน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ตามแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ NAMA
REC คือกลไกสำคัญลดก๊าซเรือนกระจก เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดสร้างความยั่งยืน
Renewable Energy Certificate หรือ REC เป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นอีกกลไกที่จะนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับชาติ เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน ที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยการสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยตรง ทำให้ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มในรูปแบบ REC โดยหน่วยการซื้อขายคือ REC ซึ่งคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจริง (ไฟฟ้า 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC)
แนวโน้มการเติบโตตลาด REC
พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิก RE100 ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้นถึง 40% เทียบจากปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันความต้องการขาย REC ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ลงทะเบียนกับมาตรฐาน I-REC แล้วทั่วโลกจำนวนกว่า 750 MWp
กฟผ. เปิดซื้อขาย REC รายแรก
พร้อมผลักดันและพัฒนาโครงการใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียน REC โดยนำโครงการพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. รับรองจากเจ้าของกลไกมาตรฐาน I-REC และขาย REC ดังกล่าวให้กับหน่วยงานเอกชนหรือผู้ที่สนใจ ซึ่งโครงการใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียนนี้จะเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมูลค่าให้กับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการลดการผลิตไฟฟ้าจาก Fossil Fuel เป็นการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกอีกทางหนึ่ง โดยในปี 2563 กฟผ. ได้เริ่มการขาย REC จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนแม่กลอง ให้กับผู้ซื้อรายแรก และมีกำหนดส่งมอบในปี 2564
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หนึ่งในลูกค้ารายสำคัญ ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ CO2 สัดส่วนร้อยละ 80 ของก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยจะดำเนินการสามส่วนหลักตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดำเนินการทั้งที่โรงงานประกอบยานยนต์, ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้แทนจำหน่าย โดยบริษัทตกลงซื้อ REC ที่ผลิตจากพลังงานน้ำทั้งหมด 10,000 REC จาก กฟผ.
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับรายละเอียดได้ที่ นายภัควี ศิลปานนท์ โทร. 0-2436-0843 pakawee.s@egat.co.th แผนกบริหารและส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก กองบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ และการรับรอง REC ได้ที่นายไชยรพี เลี้ยงบุญเลิศชัย โทร. 0-2436-4132 chairapee.l@egat.co.th แผนกธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กองพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและระบบโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัล ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย