ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสำรวจราคาผักผลไม้ก่อนเทศกาลกินเจปีนี้ระหว่าง วันที่ 17-25 ต.ค.พบว่า ผัก และผลไม้บางรายการมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากมีฝนตกชุกจนทำให้พืชผลหลายชนิดได้รับความเสียหาย ประกอบกับใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจที่มีความต้องการบริโภคผักผลไม้สูงกว่าปกติ
โดยราคาผักที่นิยมบริโภคส่วนใหญ่ ราคาแพงขึ้นกิโลกรัม (กก.) ละ 5-15 บาท ยกเว้นผักชีที่มีราคาแพงขึ้นกว่า 1 เท่าตัวมาอยู่ที่ กก.ละ 300-400 บาท ขณะที่ราคาเนื้อหมู ไม่ลดลงแม้ใกล้เทศกาลกินเจ โดยหมูเนื้อแดง กก.ละ 150-160 บาท หมูสามชั้น กก. 170-180 บาท เนื่องจากประเทศไทยส่งออกหมูมีชีวิตจำนวนมาก หลังเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันระบาดในจีน และประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับราคาผักผลไม้ที่สำคัญ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.พบว่าคะน้า กก.ละ 50-60 บาท ผักบุ้งจีน กก.ละ 35-40 บาท ผักกวางตุ้ง กก.ละ 30-35 บาท ผักกาดขาว กก.ละ 40-45 บาท กะหล่ำปลี กก.ละ 30-35 บาท ถั่วฝักยาว กก.ละ 60 บาท ผักกาดหอม กก.ละ 90 บาท ส่วนกล้วยหอม หวีละ 110-130 บาท เพิ่มจากปีก่อนที่หวีละ 95 บาท ส้มเขียวหวาน กก.ละ 70-75 บาท จากปีก่อน กก.ละ 65 บาท
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราคาผักตลาดบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯว่า คนเริ่มกินเจตั้งแต่สัปดาห์นี้เพื่อล้างท้อง จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลาง และค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ เร่งสำรวจราคาวัตถุดิบอาหารเจ โดยพบว่าราคาผักส่วนใหญ่ทรงตัว และสูงขึ้นเล็กน้อย หลังฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตเน่าเสียหาย
“ราคาผักช่วงนี้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับตั้งแต่ช่วงต้นปีเพิ่มขึ้น 10-15% ยกเว้นผักชีที่แพงถึง กก.ละ 300-400 บาท แต่ถือว่าไม่ใช่ ผักที่นิยมบริโภคในช่วงกินเจ และปีนี้เกษตรกรได้ปลูกผักเพิ่มขึ้น รองรับเทศกาลกินเจ ทำให้ผักมีเพียงพอต่อการบริโภค และวัตถุดิบปรุงอาหารเจอื่นๆ เช่น โปรตีนเกษตร ถั่ว งา ราคาทรงตัวจากปีที่แล้ว ทำให้อาหารเจปรุงสำเร็จ เช่น แกงถุง ไม่ได้ปรับขึ้น กรมฯได้ขอความร่วมมือตลาดสด ห้างค้าปลีก ขายอาหารเจจานละ 20-25 บาท และ
จะเร่งเชื่อมโยงผักจากตลาดกลางไปสู่ตลาดย่อย ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.นี้จนสิ้นสุดเทศกาล เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอรองรับความต้องการของประชาชน”.