นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) วันที่ 7 ต.ค.นี้ จะมีการพิจารณามาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศต่อเนื่องเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการครั้งนี้เป็นมาตรการทางภาษี โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้เสียภาษี ผู้มีรายได้สูงในกลุ่มคนชั้นกลางและคนระดับบน ให้มาร่วมจ่ายกับรัฐในลักษณะ Co-pay แต่จำนวนเงินที่รัฐจะสมทบให้ อาจเป็นในรูปแบบการคืนภาษีให้ หรือใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯบางส่วน ขณะที่มาตรการทางภาษี ในส่วนของการที่จะสนับสนุนการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ กำลังพิจารณาอยู่ หากมีความจำเป็นก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ปัจจุบันการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน เริ่มกลับมาทำได้ดีขึ้นจึงยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มในส่วนเร่งด่วน
“มาตรการที่ออกมาจะช่วยคนกลุ่มที่มีเงิน มีกำลังซื้อออกมาใช้จ่าย อาจจะเป็นในรูปแบบคล้ายๆกับช็อปช่วยชาติ หรือชิมช้อปใช้หรือไม่ก็อาจจะคล้ายกัน แต่ขอให้อย่าไปยึดติดกับชื่อ ขอให้ดูว่ามาตรการที่จะออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อได้”
ทั้งนี้ การทำนโยบายทางเศรษฐกิจ จากนี้ไปจะใช้วิธีออกมาตรการสำหรับระยะสั้นคือเป็นมาตรการที่ใช้ในช่วงเวลา 3 เดือน ก็จะมีการวัดและประเมินผล หากมาตรการใดต้องมีการปรับปรุงก็จะมีการปรับ มาตรการใดดีและต้องมีการขยายระยะเวลาออกไปก็จะมีการขยายออกไป เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน จะพิจารณาขยายมาตรการออกไปซึ่งคงไม่ใช่แค่จากสิ้น ต.ค.นี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น ตนมองว่าให้ขยายไปจนกว่าเงินในโครงการจะหมด
“ความเห็นของธนาคารโลก ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบมากที่สุดในอาเซียน ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะตอนนี้ตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มดีขึ้น ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค การท่องเที่ยวในประเทศและการส่งออก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือ ภาคเอกชนคนไทยต้องเลิกกลัวต้องเชื่อว่าโควิด-19 จะมีวันสิ้นสุด จึงต้องกล้าลงทุนในขณะนี้”.