“เราจะออกจากวิกฤตินี้อย่างไร” บทสนทนา “วิรไท” ทิ้งท้ายบทบาทผู้ว่า ธปท.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“เราจะออกจากวิกฤตินี้อย่างไร” บทสนทนา “วิรไท” ทิ้งท้ายบทบาทผู้ว่า ธปท.

Date Time: 28 ก.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • “วิกฤติเศรษฐกิจ” จากโควิด–19 ในครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่มีใครหรือประเทศไหนไม่ได้รับผลกระทบ และแน่นอนว่า วิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้น

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“วิกฤติเศรษฐกิจ” จากโควิด–19 ในครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่มีใครหรือประเทศไหนไม่ได้รับผลกระทบ และแน่นอนว่า วิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้น กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่ “ติดลบ”

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นอีกหน่วยงานหลักที่เข้ามาดูแลเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยผ่านนโยบายการเงิน สถาบันการเงิน รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานอื่น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ธปท.ระบุว่า แม้จะมีความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ โดยวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะอยู่กับเรายาวนานต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า

ในช่วงเวลาที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. จะครบวาระดำรงตำแหน่งสิ้นเดือน ก.ย.นี้ “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์มุมมองเศรษฐกิจไทยและการแก้ปัญหา

แต่แทนที่จะโฟกัสว่า “เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบเท่าไร” ดร.วิรไท อยากชวนมองให้ไกลออกไปว่า “เราจะออกจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้อย่างไร”

อีกโจทย์สำคัญคือ “โลกใหม่หลังโควิดจะต่างไปอย่างไร” และ “เราจะใช้เวลาช่วงนี้เตรียมพร้อมให้ไทยรับมือกับโลกใหม่หลังโควิดนี้ได้อย่างไร” เป็นโฟกัสต่อไปที่ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชนต้องตระหนักและช่วยกันคิด...

หน้าตาโลกหลังโควิด–19

เพื่อตอบคำถามที่ว่า “เราจะผ่านวิกฤติโควิดในครั้งนี้ไปได้อย่างไร” และ “เราจะเตรียมพร้อมให้คนไทยรับมือกับโลกใหม่หลังโควิดนี้ได้อย่างไร” เราต้องหาคำตอบว่า “โลกหลังโควิดจะมีหน้าตาอย่างไร”

คำตอบข้อแรกของ ดร.วิรไท คือ จะเป็นโลกที่มีกำลังการผลิตเหลือจำนวนมากและเป็นกำลังการผลิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตามปกติมักจะใช้วิธีแข่งตัดราคากันไปเรื่อยๆจนไม่มีใครอยู่ได้ก็เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ

แต่จะช่วยได้หรือไม่ข้อนี้ เราต้องตระหนักว่า “ทรัพยากร” ที่ประเทศมีไม่สามารถช่วยทุกคนได้ ถ้าช่วยทุกคน สุดท้ายก็อาจจะ “ไปไม่รอด” สักคน เพราะมีทั้งธุรกิจที่ช่วยแล้วปรับตัวได้ และมีบางธุรกิจที่รอความช่วยเหลือโดยไม่ปรับตัว หรือปรับตัวไม่ได้ ซึ่งอาจจะไปฉุดคนที่พร้อมปรับตัวให้ “ไปไม่รอด” ไปด้วย

ในต่างประเทศกรณีแบบนี้เรียกว่า “ซอมบี้ เฟิร์ม” หรือธุรกิจที่เลี้ยงกันไป ซึ่งเป็นผลเสียกับตัวผู้ประกอบการเอง เพราะเขาคิดว่าจะซื้อเวลาไปได้ กลายเป็นปล่อยให้เลือดซึมออกไป และไปต่อไม่ได้ในที่สุด

ดังนั้น ในโลกที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก ผนวกกับโลกที่จะเปลี่ยนโครงสร้างแรงๆ หลังโควิด ต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ เหมือนที่เราต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรับกับ “วิถีชีวิตใหม่”

ส่วนข้อที่ 2 ดร.วิรไท มองว่า วิกฤติครั้งนี้เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก มีโครงสร้างการเงินดิจิทัลดีขึ้นมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยธุรกิจที่ปรับตัวได้ หันมาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ เพราะแม้ว่ามีการล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจเหล่านี้ก็ยังไปได้ เพราะมีการซื้อขาย มีการชำระเงินผ่านทางออนไลน์ โดยไม่สะดุด

ที่ดีกว่านั้น คือเมื่อคลายล็อกดาวน์แล้ว ธุรกิจเหล่านี้ก็ยังดำเนินต่อไปได้ ทุกวันนี้เรายังคงสั่งอาหารผ่านฟู้ด ดีลิเวอรี ยังซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่เทคโนโลยีช่วยขยายตลาดของผู้ขายและผู้ซื้อออกไปได้กว้างกว่าเดิมมาก การเร่งปรับตัวปรับธุรกิจให้เข้ากับโลกที่มีเทคโนโลยีเป็นฐาน จึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆในยุคนี้

ตรงนี้แปลว่า รูปแบบการจ้างงานก็จะเปลี่ยน ทักษะที่ต้องการสำหรับอนาคตจะเปลี่ยนด้วย คนที่วันนี้ออกจากตลาดแรงงานและคาดหวังว่าจบโควิดแล้วจะกลับมา วันนั้นอาจจะไม่ได้มีทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานแล้วในอนาคต

ควบคู่กับการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เราจึงต้องพูดถึงการปรับเปลี่ยน “ทักษะแรงงาน” ให้เท่าทันกับความต้องการใหม่ๆ และในขณะนี้ใครปรับได้เร็ว ก็จะถือว่าเป็นโอกาส

จ้างงานล้านคนยกระดับชนบท

ขณะที่อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ผมคิดว่า ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในช่วง 20 ปี คือ มีคนที่ออกจากเมืองกลับสู่ภูมิลำเนาเป็นล้านคน จากที่ผ่านมา มีแต่คนจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองใหญ่ เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรม

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีคนกลับบ้านเป็นล้านคน และเป็นคนที่อยู่ในวัยแรงงาน เป็นคนที่รู้เรื่องเทคโนโลยี เป็นคนที่มีประสบการณ์จากการอยู่ในเมือง คำถามก็คือ ในอนาคตที่โลกจะเปลี่ยน เราจะใช้ตรงนี้เป็นโอกาสอย่างไรที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชนบท และถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศได้เราต้องเปลี่ยนชนบท เปลี่ยนต่างจังหวัด”

ในช่วงที่ผ่านมา ผมและ ธปท.ได้พยายามนำเสนอนโยบายให้เกิดการสร้างงานเพิ่มขึ้นเป็นล้านๆตำแหน่งในชนบท ผมมองว่าจะเป็นหัวใจของนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อให้คนที่กลับบ้านมีทักษะแรงงานที่ดีขึ้นและอยู่รอดได้

ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เขาต้องไปทำงานในภาคเกษตรอย่างเดียว

เช่น วันนี้คนที่เคยอยู่ใน “ร้านนวด” ไม่มีนักท่องเที่ยว หากเรามีโครงการสอนทักษะเพิ่มเติมให้ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้ โดยถ้าจ้าง 1 คน หมู่บ้านละ 1 ตำแหน่ง เราจะมีคนทำงานเพิ่มกว่า 75,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ จ้าง 2 คนจะได้ 150,000 ตำแหน่ง หากทำสัญญาจ้าง 2 ปี ให้เดือนละ 5,000 บาท ปีละ 60,000 บาท ถือว่าใช้เงินน้อยกว่าที่เราต้องเอามาแจกในเวลานี้ และหากทำหลักสูตรการเพิ่มทักษะความรู้ให้ดีเพียงพอ เมื่อครบ 2 ปีโควิดจบ คนเหล่านี้จะมีทักษะการดูแลผู้สูงอายุ ตอบโจทย์ประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ

“คนส่วนนี้จะเป็นตัวอย่างในการปรับทักษะให้เข้าสู่โลกใหม่ ครบ 2 ปี หากเขากลับมาทำงานในเมือง เขาจะมีทักษะการทำงานเพิ่มขึ้น หรือหากว่าอยู่ต่อ ถือเป็น Change agent ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนชนบทได้”

ด้านการเกษตรเอง เรายังต้องอาศัย “ข้อมูล” และ “เทคโนโลยี” อีกจำนวนมาก จึงต้องการคนที่มีความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยี คนมีความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าโลจิสติกส์ และการค้าขายออนไลน์

ขณะที่ระบบบัญชี หรือกองทุนหมู่บ้าน ฐานข้อมูลหมู่บ้านก็ยังมีปัญหา เราลากอินเตอร์เน็ตไปทั่วประเทศแต่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์จริงจัง การหา “คนที่มีความรู้ด้านอินเตอร์เน็ต” ช่วยให้ความรู้ หรือแนะนำการใช้ให้คนในและช่วยเพิ่มจ้างงานทุกหมู่บ้านได้อีก 75,000 ตำแหน่ง

ช่วงที่ผ่านมา “มูลนิธิปิดทองหลังพระ” ทำโครงการลักษณะนี้ จ้างเด็กจบใหม่ จ้างคนตกงานเข้าไปเป็น Change agent ในชุมชน เช่น คนที่เป็นวิศวกรมาช่วยพัฒนาการก่อสร้างต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานในท้องที่ ช่วยบริหารจัดการน้ำ มีโครงการที่สามารถผนึกกำลังกันได้อีกมากเพื่อช่วยกันเปลี่ยนประเทศ

หยุด “แก้หนี้” ด้วยการ “เพิ่มหนี้”

ผู้ว่าการ ธปท. ยังได้กล่าวถึงอีกปัญหาใหญ่ของสังคมไทย คือ หนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจ ที่อยู่ในระดับสูง วันนี้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงมาก และการฟื้นตัวหลังโควิดในแต่ละภาคธุรกิจก็ไม่เท่ากัน

“ในช่วงแรกอาจจะต้องใช้มาตรการแบบเหวี่ยงแหกับทุกภาคส่วน ทั้งมาตรการเยียวยา และมาตรการพักหนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าผลกระทบจะรุนแรงแค่ไหน วันนี้เราผ่านช่วงเวลานั้นแล้ว กิจกรรมหลายๆ อย่างเริ่มกลับมาทำงานได้เป็นปกติ และบางธุรกิจดีขึ้นด้วยซ้ำ”

จากนี้ควรทยอยเปลี่ยนเป็นมาตรการ “การช่วยเหลือเฉพาะจุด” ซึ่ง ธปท.เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีช่องทางเจรจาให้ปรับหนี้ได้เร็วและตรงกับความสามารถของลูกหนี้ในอนาคต ขณะที่แบงก์ควรนำทรัพยากรที่มีอยู่ช่วยคนที่ได้รับผลกระทบมากกว่าสนับสนุนให้พักหนี้โดยรวม

“ขณะนี้คนส่วนใหญ่ในประเทศยังจ่ายหนี้ได้ ส่วนคนที่พักหนี้ เมื่อครบกำหนดวันที่ 22 ต.ค.สำรวจพบว่าเกินกว่าครึ่งกลับมาชำระหนี้ได้ ดังนั้น เฟสที่ 2 จะเป็นการให้ลูกหนี้แสดงตนเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และอยากให้เข้าใจว่า การปรับโครงสร้างหนี้ในสภาวะแบบนี้ ไม่ใช่ความผิดของลูกหนี้ ทุกคนก็เข้าใจว่าจำเป็น ซึ่ง ธปท.ได้แก้หลักเกณฑ์ให้ค่อนข้างมาก และครั้งนี้เราเห็นแบงก์พาณิชย์เข้าไปช่วยเร็วและช่วยในวงกว้าง”

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราตระหนักว่า รอบนี้วิกฤติจะอยู่กับเรา 2 ปี จะรู้ว่าการแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่มีหนี้อยู่แล้ว ด้วยเอาหนี้ไปให้เพิ่มนั้น มันแก้ปัญหาไม่ได้ การเอาหนี้ไปเพิ่มหนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ ถ้าจะแก้ต้องปรับโครงสร้างหนี้เดิม ลดภาระหนี้เดิมก่อน หากเขาปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจแล้ว ต้องการใช้เงินเพิ่มให้สินเชื่อใหม่ได้ แต่บางทีเป็นความเข้าใจผิดที่ว่า เมื่อขาดสภาพคล่อง หรือหนี้มีปัญหา จะต้องขอหนี้มาเพิ่ม ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหา

เปิดประเทศรับกำลังซื้อต่างชาติ

สุดท้ายที่เป็นมาตรการสำคัญ คือ การเปิดประเทศ แต่ต้องถ่วงดุลให้เหมาะสมระหว่างความกังวลด้านสาธารณสุข ที่ต้องใช้ มาตรการคุมเข้มที่เข้มแข็งไม่ให้ระบาดรอบ 2 พร้อมๆกับความสำคัญด้านเศรษฐกิจ

เพราะถ้าเราไม่มีแผนในการเปิดประเทศอย่างมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของเราจะไม่สามารถรับผลกระทบที่ยาวนานและต่อเนื่องถึงคนจำนวนมาก สิ่งที่ต้องทำอีกเรื่องคือ การสร้างความเชื่อมั่นของคนในชาติให้เชื่อมั่น และเชื่อใจ ที่ผ่านมาเรามีจุดแข็ง ที่เราทำได้ดีกรณีรับคนไทยกลับจากต่างประเทศ หรือการกักตัวในพื้นที่ควบคุมของรัฐ 14 วัน เพราะแม้ว่ามีโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่เป็นโรงแรมที่ใช้กักตัว 14 วันหลายโรงแรม แต่คนกรุงเทพฯก็ไม่ได้ตระหนกตกใจอะไร เพราะมั่นใจในมาตรการต่างๆของรัฐ

“แต่เราจะขยายผลขยายความมั่นใจของคนไทยอย่างไร เพื่อให้ไปถึงกลุ่มชาวต่างชาติ ที่จะมีบทบาทในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่ครอบครัวของชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย ซึ่งเขารอที่จะกลับมาจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นกำลังซื้อที่ควรจะค่อยๆนำเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย”

ยังมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยที่ผ่านมามีหลายโรงงานที่สั่งเครื่องจักรใหม่เข้ามา แต่ติดตั้งไม่ได้เพราะช่างมาจากต่างประเทศไม่ได้ หรือ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐก็มีปัญหาช่างที่เข้ามาไม่ได้ พอเดินทางไม่ได้ โครงการก็ไปต่อไม่ได้

ส่วนการรับนักท่องเที่ยวคงจะไม่ใช่นักท่องเที่ยวปกติ แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและอยู่ระยะยาว ซึ่งในทุกปีเราจะมีนักท่องเที่ยวประเภทที่หลบหนาวมาพักบ้านเรา 1-2 เดือนในลักษณะเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ซึ่งผมเชื่อว่า คนเหล่านี้น่าจะพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วันเพื่อที่จะอยู่ต่อ 1-2 เดือน ซึ่งจะเป็นอีกกำลังซื้อที่กลับเข้ามาในประเทศ

“จุดที่เราต้องทำมากขึ้น คือ การบริหารจัดการในระดับที่เล็กลงไป ในส่วนที่เป็นภาคปฏิบัติจริง ซึ่งลงลึกในพื้นที่และในรายละเอียดของการบริหารจัดการเฉพาะกลุ่ม เฉพาะที่ เพราะการจะสร้างความไว้วางใจหรือความเชื่อมั่นของคน จะต้องเกิดขึ้นในส่วนของการปฏิบัติจริง ซึ่งอาจจะมีหลายส่วนราชการเกี่ยวข้อง

และหากเราจะทำก็ต้องเร่งมือ เพราะหากเราต้องการรับนักท่องเที่ยวในเดือน ธ.ค.หรือเดือน ม.ค.ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จะต้องมีความชัดเจนตั้งแต่กลางเดือน ต.ค. เพราะถ้าช้าไปเขาจะไปที่อื่น ให้ทำในสเกลเล็กๆก่อน อาจจะไม่ต้องเปิดใหญ่ รวมทั้งอาจจะขยายโรงแรมที่เป็นพื้นที่กักตัวของรัฐไปในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น เมื่อมีความ มั่นใจได้รับความไว้วางใจแล้ว จึงค่อยๆเพิ่มสเกลขึ้น”

*************

สำหรับการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ยังไม่มีอะไรเป็นที่สุด เพราะมีโจทย์ที่ท้าทายแตกต่างกันไปในหลายช่วงเวลา และข้อที่ดีคือ วิกฤติโควิดที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นทีม ที่ทำให้เราออกนโยบายที่ตอบโจทย์ของวิกฤติได้อย่างทันท่วงที มีเหตุมีผล

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ คือ การปรับ “วัฒนธรรมองค์กร” ให้เป็นแบงก์ชาติที่ติดดินมากขึ้น มีการประสานความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เด็กๆ ที่มีความรู้ ความสามารถได้คิด ได้ทำ และปรับการทำงานโดยใช้เทคโนโลยี การใช้ฐานข้อมูล ที่ตอบคำถามได้อย่างมีประจักษ์พยานมากขึ้น ซึ่งช่วยลดการใช้อารมณ์ หรือความรู้สึก หรือความเชื่อของผู้ใหญ่ที่มองว่า เคยผ่านมาก่อน ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ลง

คิดว่าวัฒนธรรมใหม่นี้อยู่กับ ธปท.ต่อไปและช่วยให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น

ส่วนชีวิตหลังอำลาตำแหน่ง นอกจากแบ่งเวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น ผู้ว่าการ ธปท.คงยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติต่อไป ภายใต้มูลนิธิปิดทองหลังพระ มูลนิธิอื่นที่เคยทำ และงานด้านการศึกษา

ท้ายที่สุด ผู้ว่าการ ธปท.เชื่อมั่นว่า การทำงานของ ธปท.ภายใต้การนำของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่จะมีความต่อเนื่อง จากที่เป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มาถึง 2 สมัย เป็นคณะกรรมการ ธปท.อีก 1 สมัย เป็นคนให้ข้อคิดในการตัดสินใจทำนโยบายของ ธปท.มาโดยตลอด และเข้าใจการทำงานของ ธปท.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ