เอกชนวิตกรัฐบาลเลือก "การเมือง" เสียงสะท้อน รมว.คลัง ลาออกกระทบเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอกชนวิตกรัฐบาลเลือก "การเมือง" เสียงสะท้อน รมว.คลัง ลาออกกระทบเศรษฐกิจ

Date Time: 7 ก.ย. 2563 05:10 น.

Summary

  • หลัง “บิ๊กเซอร์ไพรส์” การลาออกของ “ปรีดี ดาวฉาย” ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพียง 21 วัน ปฏิกิริยาของเอกชนส่วนใหญ่แสดง “อาการช็อก” ชัดเจน

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

หลัง “บิ๊กเซอร์ไพรส์” การลาออกของ “ปรีดี ดาวฉาย” ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพียง 21 วัน ปฏิกิริยาของเอกชนส่วนใหญ่แสดง “อาการช็อก” ชัดเจน

ตามมาด้วย “คำถาม” ที่สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่น โดยต้องการ “คำตอบ” ที่ชัดเจนจากผู้บริหารสูงสุดของประเทศว่า เหตุผลของ “การลาออก” มาจาก “แรงกดดันทางการเมือง” หรือไม่ และคำถามที่สำคัญกว่า คือ แนวทางบริหารประเทศในช่วงต่อไป รัฐบาลเลือกอะไร ระหว่าง “การฟื้นฟูเศรษฐกิจ” หรือ “บริหารอำนาจการเมือง”

ขณะเดียวกัน การออกมายืดอกขอรับตำแหน่งของนักการเมืองบางคน หรือโยนหินถามทางของผู้บริหารประเทศเพื่อที่ผลักดันให้ “นักการเมือง” เข้ามาคุมอำนาจบริหารกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกระทรวงหลักในการดูแลการเงินการคลังของประเทศ ยิ่งทำให้ภาคเอกชนรู้สึกสังเวชในใจ และรับไม่ได้มากขึ้น

“เสียงสะท้อน และความไม่เชื่อมั่น” ของภาคเอกชน จากกรณีนี้ แสดงออกชัดเจนว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และภายใต้วิกฤติโควิด-19 เอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา และออกมาตรการเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง “ทีมเศรษฐกิจ” รวบรวมมาให้อ่านกัน...ดังนี้

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“เหตุผลการลาออกที่แท้จริง ยังไม่ทราบแน่ชัด สังคมรับรู้แค่ว่ามาจากปัญหาสุขภาพ ส่วนข้อเท็จจริงจากรัฐบาลก็บอกว่า ไม่มีปัญหาการเมืองกดดัน แต่คำตอบนี้ไม่สามารถโน้มน้าวความเชื่อของคนบางกลุ่มได้ ซึ่งต้องพิสูจน์ต่อไปว่า มาจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจหรือไม่”

แต่ในระยะสั้น จากปัญหานี้กระทบกับความเชื่อของภาคธุรกิจ นักลงทุน และประชาชน เพราะตลาดหุ้นตกลงทันที และห่วงว่าคนใหม่ที่จะมารับตำแหน่งต่อไปจะเป็นใคร จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การลาออกครั้งนี้ ถ้าไม่นับรวมว่าเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ ก็จะไม่ถือว่าบั่นทอนความเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะสั้น และกลางมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัวแล้ว และรัฐมีมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยา มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และมีรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และ รมช.คลัง ที่จะทำหน้าที่แทนได้ระยะหนึ่ง

“การลาออกครั้งนี้จึงเหวี่ยงไปที่ความเชื่อมั่นทางการเมืองเป็นสำคัญ ทำให้เห็นภาพว่า รัฐบาลจะเลือกฟื้นเศรษฐกิจ และประชาชน หรือเลือกความกลมเกลียวทางการเมือง และความไม่พอใจของฝั่งการเมือง แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกใคร ก็ต้องเลือกคนที่ดีที่สุดภายใต้การเมืองฟื้นเศรษฐกิจ”

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลรีบดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ ทำการท่องเที่ยวแบบทราเวล บับเบิล หรือจับคู่ท่องเที่ยวกับประเทศที่การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย หรือมีการจัดการการระบาดได้ดี เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก หรือกว่า 130% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดย 70% มาจากรายได้ของการส่งออก และอีก 60% เป็นรายได้จากการท่องเที่ยว

“ทราเวล บับเบิล ตอบโจทย์สุดท้าย เพราะลำพังจะกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวไทยคงยาก เพราะถ้าจะเอารายได้จากคนไทยมากู้การท่องเที่ยว ต้องทำให้คนไทยเที่ยวถึงปีละ 4 ครั้ง แต่การจะทำทราเวล บับเบิล ต้องขึ้นกับคนไทยด้วยว่าจะยอมหรือไม่ ถ้ายอมรัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการระบาดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยอาจใช้ “ภูเก็ต โมเดล” เป็นตัวนำร่องก่อน ถ้าทำได้จะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบทะลุทุกมิติ”

แต่ถ้าเริ่มทราเวล บับเบิลช้า ไม่เกิดขึ้นจนถึงกลางปีหน้า หรือไม่ทำเลยธุรกิจต่างๆจะล้มหายตายจาก คนตกงานมากขึ้น ถ้าจะกลับไปสู่ภาคเกษตรก็รองรับไม่ไหว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด กลายเป็นปัญหา วังวน ที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังต้องเร่งกระตุ้นการส่งออก ผ่อนคลายกฎระเบียบซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท เร่งใช้งบฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท เร่งจ้างแรงงาน 260,000 คน ต่อยอดมาตรการชิมช้อปใช้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

เกรียงไกร เธียรนุกูล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

“การลาออก” ของนายปรีดีเชื่อว่าภาคเอกชนและคนไทยก็รู้สึกตกใจมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่มารับหน้าที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 เพราะมาทำงานไม่ถึงเดือนก็ลาออก ยังไม่ได้มีผลงานอะไรออกมา จึงอยากถามว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่

“รู้สึกเสียดายนายปรีดี ที่เคยทำงานร่วมกันมากับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจจนอาจเรียกว่าเป็นทีมเดียวกันกับภาคเอกชน จึงมั่นใจว่านายปรีดีมีของที่จะนำมาโชว์ในสถานการณ์ขณะนี้อย่างแน่นอน”

“ส.อ.ท.ต้องการให้หาบุคคลมารับตำแหน่ง รมว.คลัง โดยเร็วที่สุด ที่สำคัญต้องมีประสบการณ์ด้านการเงิน มองภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างชัดเจน ถ้าไม่ได้คนแบบนี้ อาจสร้างปัญหาให้นายก-รัฐมนตรีปวดหัวได้อีกในการแก้ปัญหา เศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในระหว่างหาบุคคลมารับตำแหน่งแทนนายปรีดีคงชุลมุน และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยอาจเกิดการชะลอการลงทุน เพราะเดิมนักลงทุนมองว่า นายปรีดีจะมาเชื่อมรอยต่อของทีม 4 กุมาร ที่ปูรากฐานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไว้ หรือล่าสุดที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ออกมา เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ อาจขาดการสานต่อไประยะหนึ่ง เพราะต้องรอ รมว.คลัง คนใหม่มาขับเคลื่อน

สำหรับโจทย์ใหญ่ที่ รมว.คลังคนใหม่ ต้องมีมาตรการฟื้นฟูวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่เรียกว่า จัดชุดใหญ่ไฟกะพริบ เพราะโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีก 2 ปีอย่างน้อย แม้ว่าจะมีวัคซีนออกมาแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในปี 2564 แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของโลก และประเทศไทยบอบช้ำมาก

โดยจะต้องมีมาตรการฟื้นฟูผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพราะอาจไม่สามารถคาดหวังรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างแน่นอน รวมทั้งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 จะมีมาตรการอะไรบ้างออกมาเรียกความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและคนไทย

“ส.อ.ท.ต้องการให้ รมว.คลังคนใหม่ รื้อดูแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่องในกิจการในระดับต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อกิจการ ที่มาตรการที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะควรให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ที่มีกว่า 1 ล้านกิจการ เกิดการจ้างงานหลายแสนคน หากกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินสนับสนุน ก็อาจต้องทยอยปิดกิจการ ช่วยเพิ่มจำนวนคนตกงานอีกจำนวนมาก”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

“ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงของการลาออกของรัฐมนตรีคลังว่ามาจากเรื่องอะไร จึงไม่อยากโยงเรื่องนี้กับปัญหาการ เมืองภายในพรรค หรือความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาล แต่ถ้าถามว่าเอกชนให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาลมากแค่ไหน ตอบว่าให้ความสำคัญมากที่สุด”

ในภาคตลาดเงินตลาดทุน เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ และบริหารเศรษฐกิจ คือหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจและของประเทศ ซึ่งก็จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจและตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เอกชนต้องการความมั่นใจว่า ภาครัฐจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายยิ่งมีความสำคัญมาก

และแน่นอนว่า การลาออกอย่างเร่งด่วนของรัฐมนตรีคลัง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่คาดเดาว่าเกิดจากปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของทีมเศรษฐกิจ และความไม่เป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็น่าเป็นห่วง เพราะวิกฤติรอบนี้สาหัสกว่าทุกครั้ง และเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะถดถอย จำเป็นอย่างยิ่งที่ทีมเศรษฐกิจต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวเร็วที่สุด

ขณะที่ข้อเสนอต่อการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย อยากให้เพิ่มงบประมาณการฟื้นฟูให้มากขึ้น เพื่อให้กลับมาขยายตัวได้โดยเร็ว เพราะการใช้จ่ายโดยภาครัฐคือแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากภาคท่องเที่ยวต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับมาเท่าเดิม ส่งออกก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว รัฐจึงควรใช้จ่ายให้มากขึ้น และถ้าจำเป็น ก็ควรเพิ่มเพดานการก่อหนี้ภาครัฐให้สูงขึ้น เพราะ 60% ยังจัดว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับภาวะปัจจุบัน และเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ควรใช้วิธีการระดมทุนด้วยตราสารทุน เช่นการออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้รัฐไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะและไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

อมรเทพ จาวะลา
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

“สิ่งที่เอกชนคาดหวังจากรัฐบาลหลังการลาออกของ รมว.คลัง อยู่ที่การอธิบายเหตุผลว่าสาเหตุที่แท้จริงของการลาออกคืออะไร” เพราะแม้จะกล่าวถึงประเด็นสุขภาพ แต่ก็มีกระแสคาดการณ์ถึงความร้าวฉานกับทีมเศรษฐกิจหรือมีประเด็นอะไรเพิ่มเติม ซึ่งความคลุมเครือในลักษณะนี้ แม้อาจผ่านไปได้โดยไม่มีใครกลับมาทักท้วงอะไร แต่ก็สะท้อนความโปร่งใสในการบริหารงานหรือการสื่อสารของรัฐบาลได้

อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนในลักษณะนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองไทย ขณะที่เอกชนก็ไม่น่าจะรู้สึกรับไม่ได้ เพียงแต่อาจลังเลในการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอความชัดเจนไปก่อน โดยในระยะสั้นอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน เช่น หุ้นตก บาทอ่อน อย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมาจากการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน แต่ระยะยาว นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศหรือด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

มองต่อไป นักลงทุน ทั้งไทยและต่างประเทศ อาจรอความชัดเจน ไม่เพียงหน้าตารัฐมนตรีคนใหม่ แต่รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจ ด้วยว่าจะมีอะไรใหม่หรือมีอะไรจะสานต่อจากสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจชุดก่อนทำไว้ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนอาจล่าช้าออกไป ขณะที่ด้านงบประมาณ รายจ่าย มองว่าไม่น่ากระทบ เพราะเป็นเรื่องสภาฯ แต่อาจต้องดูเรื่องผู้ที่จะเข้ามาบริหารงานทางการคลัง

เอกชนอยากเห็นคนที่สามารถมาสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และผู้บริโภคได้เร็ว เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เข้าใจกลไกตลาดเงิน ตลาดทุนได้ดี และต้องมีคุณสมบัติอีกข้อ คือมีความสามารถประสานกับทีมเศรษฐกิจหรือพรรคการเมืองได้ดี เพื่ออุดรอยร้าวที่ใครต่อใครคาดว่ามี

“เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ค่อนข้างช้า เพราะเราเน้นเศรษฐกิจโลกมาก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยเสี่ยงจากโควิดยังน่าจะกระทบภาคส่วนนี้อีกระยะหนึ่ง จึงควรสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ หรือใช้ของที่ผลิตในประเทศ ช่วยการจ้างงานและสร้างรายได้คนไทย”

รวมทั้งต้องส่งเสริมความสามารถของธุรกิจไทยหลังยุคโควิดด้วย เพราะหากมุ่งเน้นภายในจนละเลยการเชื่อมตลาดโลกแล้ว การฟื้นตัวของไทยจะช้ากว่าประเทศอื่น จึงต้องส่งเสริมความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ พร้อมๆกับการประคองตัวด้วยตลาดในประเทศ ที่ทำได้รวดเร็ว คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้คนมีรายได้ระดับกลางขึ้นไป ให้เขามาช่วยใช้จ่าย ส่วนในระยะยาว เราต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจรัฐบาลจะช่วยเหลือเขาอย่างไรให้ยั่งยืน

สุรวัช อัครวรมาศ
อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

“ในมุมมองของผม การลาออกของคุณปรีดี ไม่ได้สะท้อนว่า คุณปรีดีเจอกับความไม่โปร่งใสเลยอยู่ไม่ได้ แต่เป็นเรื่องของการเจอกับการทำงานในภาคการเมือง ที่จะเอาคนและความคิดเห็นพรรคการเมืองเป็นที่ตั้ง จึงกลายเป็นเรื่องที่เอาคนดีมาเจอกับระบบการเมืองที่ไม่ดี”

เรื่องนี้ ผมว่าภาคการเมืองต้องยอมรับ คนเป็น รมว.คลัง ที่นายกรัฐมนตรีเลือกมา ต้องยอมรับการตัดสินใจและนโยบายของคนที่ได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.คลัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนในการบริหารบ้านเมือง และการลาออก กระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลไปแล้ว จึงอยู่ที่ รมว.คลังคนใหม่ ที่นายกฯจะหาคนดีไม่น้อยกว่าคุณปรีดีได้หรือไม่

หากหาคนดีสู้คุณปรีดีได้ เรื่องนี้ก็จะจบ แต่ถ้าหาไม่ได้แล้วเอานักการเมืองมาเป็น ผมว่าไม่ได้ เพราะกระทรวงการคลังต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะด้าน เข้ามาทำนโยบายเศรษฐกิจ และต้องมีความสามารถที่ดีด้วย

ส่วนนโยบายที่ภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยวอยากได้ คือเราต้องการมีงานทำ แม้การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังมีความเห็นไม่ตรงกัน บางส่วนมองว่า “ได้” และมีคนที่ไม่อยากให้เอาเข้ามา ถ้าไม่ให้เข้ามาก็ต้องอาศัยการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย และต้องการให้เที่ยวผ่านบริษัททัวร์ เพื่อกระจายรายได้ไปให้รถในธุรกิจทัวร์ที่ตอนนี้ไม่ได้วิ่งเลย คนขับรถก็ไม่มีงาน และยังช่วยไปถึงองคาพยพอื่นๆ แม้กระทั่งปางช้าง

“การเที่ยวกับบริษัททัวร์ จะมีการวางโปรแกรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย หรือโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐช่วยจ่ายค่าที่พัก 5 ล้านห้อง แต่เดินหน้าได้ไม่เยอะวงเงินก็ยังมี ขอเปลี่ยนให้มาร่วมจ่ายให้กับคนที่เที่ยวผ่านบริษัททัวร์บ้าง เพราะตราบใดที่ธุรกิจทัวร์ยังไม่มีงานทำ ก็อย่าหวังการขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่มีนายแบงก์ไหนยอมปล่อยกู้ให้ ไม่ว่าจะกับระดับบริษัท มัคคุเทศก์ หรือคนในธุรกิจนี้ ส่วนโครงการที่ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เที่ยวผ่านทัวร์ วงเงินคนละ 2,000 บาท ตอนนี้ชัดแล้วว่าจากเป้าของรัฐบาลมีบริษัททัวร์เข้าร่วม 13,000 บริษัทนั้น เข้ามาจริงแค่ 1,000 กว่าบริษัท งานนี้ไปตกกับบริษัททัวร์ที่เป็นเจ้าของรถทัวร์และโรงแรมที่สามารถทำราคาถูกๆเท่านั้น”.


ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ