ชำแหละเงินฟื้นฟูโควิด กลุ่มเปราะบางตกหล่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชำแหละเงินฟื้นฟูโควิด กลุ่มเปราะบางตกหล่น

Date Time: 21 ส.ค. 2563 05:02 น.

Summary

  • สถานการณ์ “วิกฤติโควิด-19” ได้ส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจ” เปลี่ยนแปลงพลิกผันหนักกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์” ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะทั่วโลกยังมีการระบาดอย่างหนัก

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

สถานการณ์ “วิกฤติโควิด-19” ได้ส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจ” เปลี่ยนแปลงพลิกผันหนักกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์” ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะทั่วโลกยังมีการระบาดอย่างหนัก และมีแนวโน้มว่า ตัวเลขจะไม่หยุดอยู่เท่านี้ด้วยซ้ำ

สาเหตุหลักจาก “หลายประเทศ” กำลังเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 2 เมื่อผู้ติดเชื้อยังไม่นิ่งก็ต้องมีทีท่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ “ประเทศไทย” ยังไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจนอกประเทศได้ ทั้งในด้านการส่งออกก็มีความ ต้องการและกำลังซื้อลดลง ส่วน “ภาคการท่องเที่ยว” ยังคงได้รับผลกระทบ จาก “มาตรการล็อกดาวน์”

ทว่า...“รัฐบาล” ต่างพยายามออก “มาตรการช่วยเหลือเยียวยา” ในการบรรเทาและแบ่งเบาผลกระทบวิกฤตินี้อย่างเต็มที่เช่นกัน อาทิ ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เยียวยาแรงงานลูกจ้างชั่วคราว ลดค่าไฟฟ้า ประปา และการยืดการจ่ายดอกเบี้ย เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ “รัฐบาล” จำเป็นต้องมี “เงินอัดฉีดเข้าระบบ” จนเป็น ที่มาของ พ.ร.ก.เยียวยาผลกระทบจากโควิด–19 จำนวน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท

พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ทว่า...พ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 ก้อน คือ ก้อนแรก ...ดำเนินแผนทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีมีการระบาดโควิด-19 ก้อนที่สอง...แผนงานช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน และผู้ประกอบการ วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท

ก้อนที่สาม...แผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ใช้ใน 4 ส่วน คือ 1.เพิ่มศักยภาพประเทศ 2.เศรษฐกิจฐานราก 3.กระตุ้นการบริโภค และ 4.โครงสร้างพื้นฐาน

ล่าสุด ครม.อนุมัติเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท กลั่นกรองแผนโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นชอบ 160 โครงการ ใน 58 จังหวัด วงเงิน 800 ล้านบาทแล้ว

กลายเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อในเรื่องความโปร่งใสในการอนุมัติโครงการ ที่อาจเปิดช่อง “ทุจริตการแบ่งเค้ก” มีการแทรกแซง “อนุมัติโครงการ” ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การใช้งบแบบสูญเปล่า

กระทั่งเกิดเวทีชำแหละเงินกู้ “ฟื้นฟูโควิด” โดยผู้อบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ “ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด : ช่วยเศรษฐกิจ หรือเป็นพิษกับประชาชน” เมื่อเร็วๆนี้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หน.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า...

มหาวิกฤตินี้มีความรุนแรงเกินกว่าคาดคำนึงมาก ทำให้มีช่องว่างทาง สังคมไทยกว้างขึ้น และเกิดรูรั่วทางเศรษฐกิจลึกขึ้น ในการ “ใช้เงินกู้เงินงบประมาณพิเศษ” มาถมช่องว่างทางสังคม และอุดรอยรั่วร้าวด้านเศรษฐกิจ ต้องไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนกับงบประมาณปี 2564 เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

มิเช่นนั้นจะทำให้ “งบประมาณกู้ยืมฟื้นฟูโควิด–19” กลายเป็นงบสำรองของงบประมาณประจำปี เช่นกรณีข้าราชการประจำ ทำแผนงบประมาณปี 2563-2564 ไม่ผ่าน ก็จะนำงบฟื้นฟูนี้มาใช้สำรองแทนตามมา...

ไม่นานมานี้ได้...“ถอดบทเรียนช่องว่างทางสังคม ในช่วงโรคระบาด” ตามข้อมูล “สภาพัฒน์” ในวันที่ 29 ก.ค.2563 ระบุในการใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท ที่มีการอนุมัติไปแล้ว แบ่งออกเป็น “ด้านสาธารณสุข” อนุมัติไป 3,724 ล้านบาท “การเยียวยา” อนุมัติไป 344,735 ล้านบาท “ด้านเศรษฐกิจ” อนุมัติไป 41,949 ล้านบาท

รวมเงินอนุมัติไป 390,408 ล้านบาท มีเงินเหลือใช้ในอนาคต 610,265 ล้านบาท ที่รอ ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ และมาตรการ Soft Loan มีการใช้ไป 107,210 ล้านบาท คงเหลือ 392,790 ล้านบาท

ในส่วน SMEs มีความเสียหายประเมินจาก สสว. จำนวน 7 ล้านล้าน บาท แล้วลบ 10% ตามการประเมิน GDP ของ กนง.มีความเสียหายประมาณ 7 แสนล้านบาท ได้รับช่วยเหลือแล้ว 1 แสนล้านบาท

ตอนนี้โครงการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วแต่ยังมีผู้ตกหล่นหลงเหลืออยู่จำนวนมาก ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.2563 มีกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,164,222 คน ผู้ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จ 302,106 คน เกษตรกร 137,093 คน และ ครม.ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือย้อนหลังเมื่อ 16 มิ.ย.2563

ก่อนนี้มีการสำรวจตามโครงการ “ทำไมไม่ได้ 5 พัน.คอม” ทำให้ทราบ ปัญหา “การเยียวยา” เช่น ผู้ขอรับการเยียวยาไม่ได้เป็นเกษตรกร ร้อยละ 30.87 ผู้ขอไม่เข้าข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรงร้อยละ 18.47 เป็น นักเรียนนักศึกษาร้อย 16.94 เป็นผู้ประกอบการร้อยละ 16.60 เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 เกิน 6 เดือน ร้อยละ 5.34

แสดงถึงในการเยียวยามีเหตุ “กระจุกกระจิกอยู่มากมาย” ต่างจาก “ต่างประเทศ” ได้รับการช่วยเหลือทุกคน ดังนั้น ต้องมีข้อมูล “กรองออกไม่ใช่กรองเข้า” เช่น มีข้อมูลเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นแรงงานรับเงินเดือน 40 ล้านคน ข้าราชการ 2 ล้านคน กลุ่มคนรายได้กว่า 30% กลุ่มนี้ต้องกรองออก จะทำให้มีตัวเลขเยียวยาชัดเจนขึ้น

ถ้าเกิดภัยพิบัติหรือโรคระบาดใหม่ ก็มีฐานข้อมูลนี้ในการช่วยเหลือได้ง่าย เร็ว ตรงจุด เพราะแม้วันนี้ที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้าน ก็ยังมี “คนตกหล่น” เข้ามาร้องไห้ระบายความทุกข์ให้ฟังอยู่ตลอด...

ประการต่อมา...“การช่วยเหลือแรงงาน” ตามข้อมูลในเดือน พ.ค. 2563 มีแรงงานในระบบได้รับ “ช่วยเหลือล่าช้า ไม่ทั่วถึง” อยู่มากเช่นกัน คือ ผู้ประกันตน ม.33 กรณีว่างงานมีเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจาก 1.7-3.3 แสนคน ได้ช่วยเหลือ 50% ของค่าจ้าง 180 วัน หรือ 30% ของค่าจ้าง 90 วัน กรณีลาออกเอง

ส่วนประโยชน์ทดแทนมีเหตุสุดวิสัยได้รับ 62% ของค่าจ้างจากประกันสังคม ไม่เกิน 3 เดือน ผู้ประกันตนขอใช้สิทธิ 1 ล้านคน รับช่วยเหลือวันละ 3 หมื่นคน สาเหตุ “ล่าช้า” จากนายจ้างไม่ส่งหนังสือรับรองหยุดงาน และ ม.75 นายจ้างหยุดชั่วคราวไม่ใช่เหตุสุดวิสัย มีผู้ได้รับผลกระทบ 896,330 คน

เมื่อเป็นเช่นนี้ “แรงงาน” ก็จะไม่มีรายได้ ส่งผลกระทบต่อ “เด็กยากจนพิเศษ” ผู้ปกครองมีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน จำนวน 699,737 คน และกลุ่มเด็กยากจนที่ครอบครัวตกงาน ไม่ได้รับการเยียวยาขาดรายได้ 942,385 คน มีผลให้เป็น “เด็กกลุ่มเสี่ยง” หลุดออกจาก “ระบบการศึกษา” เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินให้ลูกเรียน

ตอกย้ำประเด็น...“เศรษฐกิจ” ในปีนี้ IMS ระบุเศรษฐกิจโลก GDP จะลดลง 3% หรือ GDP โลก 80 ล้านล้าน USD ส่วนประเทศไทยติดลบ 4-5 GDP 0.5 ล้านล้าน USD เพราะเมืองไทยต้องมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก 70% ที่มีรูรั่วเกิดผลกระทบมากที่สุด คือ...

ภาคการท่องเที่ยวลบ 99% เสื้อผ้ารองเท้าลบ 69% เครื่องดื่มลบ 68% นันทนาการลบ 44%

สำหรับผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจครึ่งปี ในส่วนเฉพาะภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ 329,783 ล้านบาท ภาคใต้ 316,476 ล้านบาท ภาคตะวันออก 135,321 ล้านบาท ภาคเหนือ 54,351 ล้านบาท ภาคตะวันตก 31,871 ล้านบาท ภาคอีสาน 30,072 ล้านบาท และภาคกลาง 21,385 ล้านบาท

ในทางกลับกัน “ดัชนีผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น” ในบางประเภทของอุตสาหกรรม เช่น คอนกรีตบวก 23.8% ยารักษาโรคบวก 38.4% แผงวงจรบวก 10.4% อาหารสำเร็จรูป 8.6% สัตว์แช่แข็งบวก 7%

ภาพสะท้อนย้ำชัด “การช่วยเหลือเยียวยา” ต้องสอดคล้องสถานการณ์เข้าถึง “คนเดือดร้อนจริง” ตรงจุด รวดเร็ว เพื่อเกิดประสิทธิภาพ “ในการใช้เงิน” ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ