นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 17 ส.ค.นี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นายปรีดี ดาวฉายรมว.คลัง จะมอบนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังจะรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจระยะต่อไปช่วงปลายปี 63 ต่อเนื่องถึงสิ้นปี 64 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่องจากนโยบายเดิม
สำหรับเม็ดเงินที่นำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจระยะต่อไป จะมีวงเงินจากส่วนต่างๆ 4 ส่วน วงเงินรวมกันกว่า 758,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.วงเงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากโควิด-19 ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 550,000 ล้านบาท ที่ยังเหลือกว่า 180,000 ล้านบาท สามารถเก็บไว้เป็นกระสุนสำรองหากไทยเกิดการระบาดรอบ 2 และต้องล็อกดาวน์อีกครั้งเหมือนหลายประเทศได้ โดยไทยสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ดูแลประชาชนได้
2.วงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ครม.อนุมัติงบประมาณไปแล้ว 50,000 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีกกว่า 350,000 ล้านบาท ทั้งนี้แม้จะมีโครงการเสนอมาบ้างแล้ว แต่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ก็สามารถออกมาตรการเพื่อใช้เงินตรงนี้ตามกรอบของกฎหมายได้ 3.วงเงิน พ.ร.บ.โอนงบในงบประมาณปี 63 จำนวน 88,000 ล้านบาท และ 4.วงเงินในงบประมาณประจำปี 64 ซึ่งกันวงเงินไว้สำหรับโควิด-19 ราว 140,000 ล้านบาท
“ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่สามารถใช้เม็ดเงินนี้ออกโครงการหรือมาตรการใหม่ๆ เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจในระยะต่อไป หรือหากไม่ออกมาตรการ ก็สามารถใช้โครงการเดิมที่เคยเตรียมไว้ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร”
ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ และหลายมาตรการยังดำเนินการอยู่ เช่น การฟื้นฟูใช้เงิน 400,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามมีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนที่อยากให้ออกมาตรการเพิ่มเติมแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นมาก แต่ยังดีขึ้นไม่เท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะยังมีบางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อาทิ ภาคการส่งออก เอสเอ็มอี เป็นต้น ดังนั้นหากจะมีมาตรการเพิ่มเติมจะเน้นให้ความช่วยเหลือในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อน.