คลังกู้เงินเอดีบี 4.8 หมื่นล้าน เลี่ยงตลาดในประเทศความผันผวนสูง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังกู้เงินเอดีบี 4.8 หมื่นล้าน เลี่ยงตลาดในประเทศความผันผวนสูง

Date Time: 5 ส.ค. 2563 09:09 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบคลังกู้เงินเอดีบี 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 48,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ประเมินตลาดเงินในประเทศผันผวน เอกชนต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.เห็นชอบคลังกู้เงินเอดีบี 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 48,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ประเมินตลาดเงินในประเทศผันผวน เอกชนต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรกระจายความเสี่ยง กู้จากแหล่งเงินต่างประเทศบ้าง ด้านนายกฯ สั่งเร่งเครื่องโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้าน หลังยังอืดล่าสุดอนุมัติได้ไม่ถึง 42,000 ล้าน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี และอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในนามรัฐบาลไทยจากเอดีบีในวงเงิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 48,000 ล้านบาท (32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อนำไปใช้ในโครงการแผนงานภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนของหนี้รัฐบาลที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และกระทรวงการคลังสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ โดยสัญญาเงินกู้ฯ ฉบับดังกล่าว จะมีกำหนดลงนามกับเอดีบี ภายในเดือนส.ค.นี้ และภายหลังจากการกู้เงินจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด เท่ากับ 2.46% ซึ่งไม่เกิน 10% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค.2563) และกระทรวงการคลังจะจัดการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อภาวะตลาดเอื้ออำนวยตามช่วงเวลาต่อไป

“ความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังคาดว่าในระยะต่อไปสภาวะตลาดการเงินภายในประเทศของไทยจะผันผวนเพิ่มขึ้น เอกชนมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 และรัฐบาลยังคงต้องใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในและต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชน จึงเห็นควรกระจายการกู้เงินไปยังแหล่งเงินกู้ต่างประเทศ”

สาระสำคัญของร่างสัญญาเงินกู้ ประกอบด้วย 1.ผู้กู้คือกระทรวงคลัง ผู้ให้กู้คือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย 2.วงเงินกู้รวม 1,500 ล้านเหรียญฯ 3.อัตราดอกเบี้ยลอยตัว อ้างอิงกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารตลาดลอนดอน (LIBOR) ระยะ 6 เดือน (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.32% ต่อปี) บวกเพิ่ม 0.50% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน 4.ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ 0.15% ต่อปี 5.การชำระคืนต้นเงินกู้ 1,500 ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็น 2 วงเงิน วงเงินที่ 1 เงินกู้ 500 ล้านเหรียญฯ อายุสัญญา 10 ปี ปลอดการชำระต้น 3 ปี ทยอยชำระคืน 14 งวด เริ่มชำระงวดแรก 15 ส.ค.2566 วงเงินที่ 2 เงินกู้ 1,000 ล้านเหรียญฯ อายุสัญญา 5 ปี ปลอดชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ชำระคืน 4 งวด เริ่มชำระงวดแรก 15 ส.ค.2566

6.ระยะเวลาสิ้นสุดการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใน 30 มิ.ย.2564 7. เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อใช้ในโครงการแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยไม่เป็นโครงการแผนงานที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการของเอดีบี

วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอเพิ่มเติมอีก 157 โครงการ ในวงเงิน 884.62 ล้านบาท โดยโครงการที่คณะกรรมการฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในครั้งนี้ ได้เน้นเรื่องการสร้างงาน และสร้างอาชีพในชนบท ซึ่งเป็นการอนุมัติโครงการเพิ่มเติมจากที่ ครม.ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 10 โครงการ รวมวงเงิน 41,949 ล้านบาท ทำให้ยังเหลือวงเงินที่จะต้องพิจารณาอนุมัติอีกจำนวนมาก ซึ่งในที่ประชุม นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ผลักดันโครงการออกมาให้ได้โดยเร็ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ