Work ไม่มี Home ก็ไม่เหลือ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Work ไม่มี Home ก็ไม่เหลือ

Date Time: 21 ก.ค. 2563 05:04 น.

Summary

  • หลัง “เหตุผลทางการเมือง” กดดันให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ 4 กุมารทอง ลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีเหตุต้องปรับคณะรัฐมนตรีให้เร็วขึ้น

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

หลัง “เหตุผลทางการเมือง” กดดันให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ 4 กุมารทอง อย่าง ดร.อุตตม สาวนายน รมว.คลัง, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จึงมีเหตุต้องปรับคณะรัฐมนตรีให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเศรษฐกิจหลักอย่างกระทรวงคลังและกระทรวงพลังงาน แม้จะอยู่ในสภาวะที่หลายคนทักท้วงว่าไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก เมื่อตัวเลขชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ติดลบหนักในทุกรายการก็ตาม

ผู้ที่ปรากฏชื่อว่าจะเข้ามาทำหน้าที่แทนกลุ่มของ ดร.สมคิด ก็คือ นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้อำนวยการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จะมาเป็น รมว.คลัง, ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ถูกส่งตัวมาจากหลังบ้าน จะเข้าไปกุมเก้าอี้ รมว.พลังงาน, นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเป็น รมว.แรงงาน แลกกับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปภ.) ซึ่งจะไปนั่งเก้าอี้ รมว.อว.

ยังมีข่าวว่าเก้าอี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โควตาของพรรค พปชร.จะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของ นายฐากร ตันฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.แทน ส่วน นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค พปชร.จะไปเป็น รมช.คลัง แล้วโยก นายสันติ พร้อมพัฒน์ ไปเป็น รมช.อุตสาหกรรมแทน

ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หนึ่งในกลุ่ม ผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับ ครม.อีกคน อาจต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป คือ รมว.อุตสาหกรรม โดยไม่ได้เปลี่ยนไปอยู่กระทรวงพลังงานตามที่ต้องการ เนื่องเพราะมีผู้ไม่ต้องการให้คนนอกเข้าไปเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในนั่นเอง

แต่เอาเถอะ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยืนกรานว่าจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลร่วมกับรัฐมนตรีใหม่ที่เขาเลือกเข้าไป เราๆท่านๆก็จำต้องนั่งดูว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

วิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส และกำลังจะเผชิญหน้ากันอีกระลอกในเดือน ต.ค.เมื่อมาตรการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ทั้งดอกและต้นของแบงก์ชาติสิ้นสุดลง โดยที่ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ เพราะตกงานกันเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อธุรกิจห้างร้านและการจ้างงานต่อไป จะได้รับการเยียวยาได้มากน้อยเพียงใด

ถ้าแบงก์ชาติไม่ต่ออายุมาตรการนี้ออกไปอีก 6 เดือน หรืออาจต้องขยายไปจนถึงสิ้นปีหน้า ก็ต้องมีธุรกิจล้มตายลงกันเป็นจำนวนมาก และอาจมีคนตกงานมากกว่า 7-8 ล้านคน ยังมีปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ด้วยว่าถ้าธุรกิจเช่น SMEs ที่มีอยู่ราว 3 ล้านรายล้มลงจำนวนหนึ่ง เพราะแบงก์พาณิชย์ที่ให้สินเชื่อแก่ SMEs ไม่สามารถช่วยเหลือ SMEs ทุกรายได้ ความแข็งแกร่งของระบบแบงก์พาณิชย์จะถูกดึงลงเหวไปด้วยหรือไม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากและยังเล่นเอาเถิดกับรัฐบาลอยู่ก็คือ ความกลัวที่ว่าการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จะกลับมาในรอบ 2 เมื่อมีการเปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา

หลายฝ่ายยอมรับว่า ทันทีที่เปิดประเทศ โควิดจะกลับมาแน่ แต่จะหนักหนาสาหัสเพียงใดขึ้นอยู่กับมาตรการรับมือของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด (ศบค.) เป็นสำคัญ เพราะ ตัวอย่างของการพลาดท่าเสียทีหลังพบว่ามีผู้ติดเชื้อในกลุ่มทหารอียิปต์ และครอบครัวของทูตซูดานที่ใช้อภิสิทธิ์ทางทหารและการทูตเข้าประเทศโดยไม่ผ่านการคัดกรอง เพียงแค่ 2 คนได้ทำให้ผู้คนในประเทศแตกตื่นกันจนกลายเป็นไฟลามทุ่ง และเกินเหตุถึงขั้นมีคำสั่งปิดจังหวัดระยอง ปิดโรงเรียน โรงแรมและสถานที่ต่างๆกระทั่งผู้คนในจังหวัดได้รับผลกระทบหนัก เพราะเพิ่งจะเปิดธุรกิจได้เพียง 1 สัปดาห์ก็ต้องถูกสั่งให้ปิดกิจการใหม่

แค่พบว่ามีคนที่เดินทางเข้ามาติดเชื้อเพียง 2 คน ศบค.ยังรับมือไม่ได้ ถ้าพบว่ามีคนติดเชื้อมากกว่านี้ ประเทศไทยจะต้องกลับมาอยู่ในสภาวะปิดประเทศอีกหรือไม่ ประเด็นนี้แบงก์ชาติประเมินว่า ถ้าสถานการณ์การรับมือเกิดความยุ่งยาก และสร้างความโกลาหลอย่างหนักให้ จนไม่สามารถจะเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเคยทำรายได้เข้าประเทศมากถึง 18% ของจีดีพีล่ะก็

จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยที่ติดลบ 10% ไม่เกิน-20% ของจีดีพีในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) อาจเคลื่อนไปอยู่ในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.) หรือเลยไปถึงไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.) ของปีนี้ได้ทีนี้ถ้าความเสียหายของเศรษฐกิจจะต้องยืดยาวออกไปเป็นเดือนเป็นปี หลายคนเชื่อว่ามาตรการอะไรที่จะออกมาก็คงเอาไม่อยู่ โดยเฉพาะมาตรการ Work from Home ซึ่งอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

เพราะ Work ก็จะไม่มี และ Home ก็อาจจะไม่เหลือ.

แสงทิพย์ ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ