ทำไมหมูแพง แม่ค้าบ่นอุบสามชั้นกิโลกรัมละ 180 พบ 2 ปัจจัยหลักทำราคาพุ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำไมหมูแพง แม่ค้าบ่นอุบสามชั้นกิโลกรัมละ 180 พบ 2 ปัจจัยหลักทำราคาพุ่ง

Date Time: 16 ก.ค. 2563 19:05 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • ทำไมหมูแพง แม่ค้า พ่อค้า เขียงหมูบ่นอุบ หน้าโรงเชือด หน้าฟาร์มราคาสูง ทำราคาหมูสามชั้นแตะกิโลกรัมละ 180 บาท พบ 2 ปัจจัยหลักทำราคาพุ่ง

Latest


"ทำไมหมูแพง" แม่ค้า พ่อค้า เขียงหมูบ่นอุบ หน้าโรงเชือด หน้าฟาร์มราคาสูง ทำราคาหมูสามชั้นแตะกิโลกรัมละ 180 บาท พบ 2 ปัจจัยหลักทำราคาพุ่ง

เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 63 เจ๊โอ๋ เจ้าของเคียงหมูในจังหวัดชลบุรี เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า ตั้งแต่ช่วงคลายล็อกดาวน์เป็นต้นมา ราคาเนื้อหมูปรับตัวพุ่งสูงขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งช่วงวันพระจะหยุดทำหมูกัน ยิ่งทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอีก 5-7 บาท

"ตอนนี้ราคาหมูเป็นตัวหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 85-89 บาท จากเดิมอยู่ที่ 75-80 บาท ส่วนหน้าโรงเชือดแต่เดิมเรารับหมูสามชั้นมากิโลกรัมละ 135-140 บาท แต่ตอนนี้ราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 160 บาท ก็ต้องมาขายหน้าร้านกิโลกรัมละ 175-180 บาท ขายแพงมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะคนไม่ซื้อ และสงสารลูกค้า"

เมื่อถามว่า ทำไมหมูถึงราคาแพง เจ๊โอ๋ ระบุว่า ที่แพงเพราะน่าจะมาจาก 2 ประเด็น คือ หมูขาดตลาดเนื่องจากส่งออกไปกัมพูชา และใกล้ช่วงสารทจีนในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เลยทำให้ราคาขึ้นยาว อย่างไรก็ตาม ช่วงที่หมูมีราคาแพงและขาดตลาด ทำให้แม่ค้า พ่อค้าที่นำหมูไปแปรรูป เช่น กุนเชียง หมูหยอง ต้องหยุดผลิตสินค้าไปก่อนเนื่องจากแบกต้นทุนไม่ไหว

สอดคล้องกับ พ่อค้าเขียงหมูในจังหวัดนครปฐม ระบุว่า ขณะนี้ราคาหน้าฟาร์มหมูขายในราคาสูงกว่าปกติ ขึ้นราคาจากปกติเกือบ 20 บาท จากเดิมที่เนื้อแดงราคา 150 บาท ตอนนี้สูงขึ้นเป็น 170 บาท ราคาคอหมูแล่เป็นชิ้น จาก 170 บาท ขึ้นเป็น 200 -220 บาท

ส่วนราคาเนื้อหมูสามชั้นสูงขึ้นจาก 160 ขึ้นไป 180 บาท และซี่โครงหมูจาก 120 บาท ขยับเป็น 140 บาท แม่ค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แทนที่จะขายได้ตามปกติที่เคยขาย กลับขายได้น้อยลง

ทั้งนี้ บรรดาแม่ค้า พ่อค้า ตามเขียงต่างรับศึก 2 ด้าน ด้านหนึ่งโดนลูกค้าต่อว่าหาว่าฉวยโอกาสขึ้นราคาเอง อีกด้านหนึ่งก็ต้องไปแย่งซื้อกับแม่ค้ารายอื่นที่หน้าฟาร์ม สำหรับสาเหตุที่หมูมีราคาที่สูงมาก อาจจะมาจากบรรดายี่ปั๊วที่ไปรับหมูเป็นๆ หน้าฟาร์มมาชำแหละขายส่งให้อีกที

โดยยี่ปั๊วมักจะพูดเสมอว่า ขณะนี้ส่งหมูไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีผู้บริโภคกันมาก และหมูก็ไม่เพียงพอต่อการส่งออก โดยจะนำราคาจากที่ส่งต่างประเทศมาเปรียบเทียบและให้แม่ค้าเขียงที่รับซื้อต้องซื้อในราคาใกล้เคียงกับที่ต่างประเทศซื้อ หากไม่ซื้อก็จะส่งออกหมด ราคาขายส่งต่างประเทศก็กิโลกรัมละ 150-200 บาทแล้ว จะไม่ซื้อก็ไม่ได้เพราะมีลูกค้าประจำอยู่ จึงต้องซื้อในราคาที่แพงแล้วจะมาขายถูกได้อย่างไร อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือโดยการควบคุมราคาหน้าฟาร์มให้อยู่ในระดับที่ลูกค้าสามารถหาซื้อกินได้และมีกำลังซื้อ

จากการสอบถามเจ้าของฟาร์มสุกรในจังหวัดนครปฐมรายหนึ่งได้เผยว่า ราคาสุกรเป็นจากฟาร์ม ราคายังอยู่ที่ 78-80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคานี้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้ประกาศขอความร่วมมือให้ขายในราคานี้ แต่ขณะนี้สุกรที่เคยตกต่ำในช่วงโควิด-19 มาหลายเดือน ราคาตกต่ำสุดในช่วงนั้น ตามฟาร์มต่างๆ ขาดทุนกันอย่างหนัก บางรายถึงกับเลิกไปเลยก็มี แต่พอเริ่มที่จะส่งออกได้ โควิด-19 เริ่มที่จะเบาบางลง ผู้บริโภคเริ่มหันมาทานหมูมากขึ้น และสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ทำให้สุกรราคาดีขึ้น แต่หน้าฟาร์มก็ยังขายเท่าเดิมอยู่

นอกจากนี้ สุกรในช่วงนี้ขาด เพราะโตไม่ทัน ทำให้บรรดาเขียงหมูที่รับซื้อไปต่างมาหาซื้อสุกรแล้วไม่ค่อยได้ เพราะหมูขาดตลาด คนเลี้ยงลดลง และราคาที่ต่างประเทศรับซื้อให้ราคาสูงกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ฟาร์มหมูส่งออกหมด ผู้บริโภคภายในประเทศเลยต้องซื้อสุกรในราคาแพง หน้าฟาร์มราคาเท่าเดิม จะแตกต่างก็เล็กน้อยเท่านั้น ปัญหาอยู่ที่ผู้รับไปส่งเขียงขึ้นราคากันเอง ไม่ได้อยู่ที่ฟาร์ม

อย่างไรก็ตาม "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" สำรวจราคาสินค้าเกษตรเปรียบเทียบราคาขายปลีกสินค้าอาหารสดใน กทม.รายวัน ประจำวันที่ 16 ก.ค. 63 (คลิกที่นี่) โดยช่วงหนึ่งระบุว่า สุกรชำแหละเนื้อแดง (สะโพก) ราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น

อีกทั้งโรงเรียนเปิดภาคเรียน และผู้ประกอบการกิจการร้านอาหารดำเนินกิจการได้ตามปกติ รวมถึงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาวะการค้าคล่องตัวระดับหนึ่ง ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการสุกรมีชีวิตสูง ส่งผลให้ส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ได้สอบถามไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับคำตอบว่า กำลังติดตามในประเด็นนี้อยู่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์