วิถีล้มละลาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิถีล้มละลาย

Date Time: 17 ก.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • เมื่อไม่กี่วัน มีข่าวธุรกิจความงามซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี วุฒิศักดิ์คลินิก ขอยื่นล้มละลาย ใครจะไปคิดว่า ธุรกิจประเภทนี้ที่เคยมีคนนิยมไปใช้บริการขนาดต้องจองคิวล่วงหน้า จะมาถึงจุดนี้ได้

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ธุรกิจความงามซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี วุฒิศักดิ์คลินิก ขอยื่นล้มละลาย ใครจะไปคิดว่า ธุรกิจประเภทนี้ที่เคยมีคนนิยมไปใช้บริการขนาดต้องจองคิวล่วงหน้า จะมาถึงจุดนี้ได้ ซึ่งก็มาถึงจุดเดียวกับ การบินไทย สายการบินแห่งชาติที่ต้อง เข้าแผนล้มละลาย ไปพร้อมๆกับธุรกิจการบินอีกหลายสายการบินทั้งโลว์คอสต์และสายการบินขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจการบินมานับ 10 ปี

เมื่อเร็วๆนี้ มูจิ ร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดังของญี่ปุ่นมาเปิดกิจการในประเทศไทยก็หลายสาขาอยู่ ผู้บริหาร เรียวอิน เคอิคะคุ ประกาศ ร้านมูจิ ในสหรัฐฯ ยื่นล้มละลายต่อศาลใน รัฐเดลาแวร์ เป็นที่เรียบร้อย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ขาดทุนจากการดำเนินการไปแล้ว 2.9 พันล้านเยน หรือประมาณ 27.2 ล้านดอลลาร์

ธุรกิจที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นที่ไปเปิดดำเนินการในต่างประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ห้างคาร์ฟู ห้างอิเซตัน ที่คนไทยคุ้นเคยค่อยๆโบกมือลา คิวต่อไปก็จะเป็นกิจการร้านค้าของคนไทย ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่ง ดิวตี้ฟรี เห็นเค้ารางความล้มละลายทางเศรษฐกิจที่จะตามมา ลูกค้าเงียบกริบ

ต่อด้วย กิจการโรงแรมที่พัก รวมทั้ง ร้านอาหารโรงแรมต่างๆ ลดแลกแจกแถม โดยไม่คิดถึงกำไรขาดทุน ขอให้มีงานเข้ามาก่อนราคาห้องพักหลักหมื่นเหลือหลักพัน จากหลักพันเหลือหลักร้อย โรงแรมดังกลางใจเมือง รับประทานอาหารในโรงแรมครบ 1,900 บาท ได้รับสิทธินอนโรงแรมฟรี 1 คืน คิวต่อไปก็คือ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวชัวร์

ต่อให้เทเม็ดเงินลงไป กระตุ้นการท่องเที่ยว อย่างไรคนก็ไม่เที่ยว ไม่กินไม่ใช้เพราะ คนกลัววิกฤติเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เก็บเงินสดเอาไว้ในมือก่อนดีกว่า คนไม่ใช้เงินไม่มีธุรกรรมการเงิน ธนาคาร คือรายต่อไป

เมื่อคนไม่กินไม่ใช้ก็จะกระทบกับ เอสเอ็มอี ต่อให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ 0% ก็ไม่มี เอสเอ็มอี สมัครใจที่จะกู้เงินมาลงทุน เพราะสร้างผลผลิตออกมาแล้ว ไม่มีกำลังซื้อ ยิ่งจะกลายเป็นภาระสร้างหนี้สร้างสินมากกว่า แค่ตอนนี้ก็มีหนี้สินท่วมหัวอยู่แล้ว เลือกที่จะปิดกิจการไปก่อน รอปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยว่ากันอีกที

จากนั้นก็จะมากระทบกับ แรงงาน ปากท้องชาวบ้าน คนที่ตกงานจากไวรัสโควิดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีโอกาสที่จะกลับมาทำงานใหม่ ถือว่าโชคดีกว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 แต่คนที่ถูกเลิกจ้าง ปิดกิจการ หมดหนทางเยียวยา เงินเยียวยาที่รัฐบาลแจกให้คนละ 5 พันบาท 3 เดือนก็หมดไปแล้ว จะแจกต่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ เงินเก็บเล็กๆน้อยๆก็กำลังจะหมด งานก็ไม่มี เริ่มจะเครียด โอกาสที่คนตกงาน กว่า 6 เดือนไปแล้วจะได้กลับมาทำงานใหม่ยาก เด็กที่จบการศึกษาในปีนี้ยิ่งเคราะห์ซ้ำกรรมซัดไม่มีงานทำแน่นอน ปีหน้าเจอเด็กจบใหม่มาเป็นคู่แข่งอีก โควิดอยู่อีก 2 ปี เพิ่มคู่แข่งขึ้นมาอีก 2 เท่า กลายเป็นคนตกงานถาวร เข้าสู่ปัญหาสังคมทั้ง ผู้สูงอายุและเด็กตกงาน เครียดจัด

เมื่อไม่มีกำลังซื้อไม่มีกำลังผลิต ก็ต้องลดกำลังผลิต ลดกำลังผลิตก็ต้องลดคน บริษัทต่างชาติย้ายทุนกลับ บริษัทขนาดใหญ่เข้าสู่วิถีล้มละลาย เศรษฐกิจประเทศไม่ต่างจากตึก 10 ชั้นถล่มลงมาทับคนรากหญ้าทั้งประเทศ

วิธีรอดคือสร้างฐานรากให้แข็งแรงรับแรงปะทะให้ได้รอจังหวะบวก.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ