(ภาพ : สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี)
“สมคิด” สั่งคลังหามาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน ดึงคนรวยออกมาใช้จ่าย หวังส่งเสริมการจ้างงานในชุมชน พร้อมสั่ง ธปท.หากลไกช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวสายการบินเข้าถึงแหล่งเงินทุน กลางเดือน ก.ค.นี้ ลุ้นยืดเวลาชำระหนี้เอกชนให้ยาวขึ้น ด้านนายกฯเรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ 10 ก.ค. เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจและช่วยเอสเอ็มอี เตรียมทำนโยบาย “Big push” ดึงเอกชนช่วยผลักเศรษฐกิจช่วงฟื้นตัว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่าได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมสรรพากร ไปคิดมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มเติมจากที่การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะต้องสรุปมาตรการให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือน ก.ค.นี้
“มาตรการที่ออกมา จะต้องเน้นการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะคนระดับบน หรือคนรวย ที่จะต้องดึงคนเหล่านี้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ การกระตุ้นท่องเที่ยวในชุมชน ยังช่วยลดปัญหาการว่างงานในชุมชนอีกด้วย เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด โรงงานปิดตัวหลายแห่ง จึงทำให้มีแรงงานจำนวนมากย้ายกลับถิ่นฐานของตนเอง”
ส่วนเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 500,000 ล้านบาทนั้น ได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังร่วมกันหากลไกหรือผ่อนคลายเงื่อนไข เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีขนาดเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของ ธปท.ได้ และยังขาดสภาพคล่องอยู่เช่น ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว สายการบิน สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของ ธปท.ได้ ภายในกลางเดือน ก.ค.นี้
“เอกชนขอให้สถาบันการเงินขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไป 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้ 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุด ก.ย.นี้ ได้ให้กระทรวงการคลังและธปท.หาแนวทางว่าทำได้หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยไม่ต้องรอให้ธุรกิจปิดกิจการไปก่อนค่อยแก้ปัญหา และเพื่อไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ดังนั้นต้องเร่งช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนตัวเล็ก 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน คาดจะเสนอ ครม.พิจารณา 8 ก.ค.นี้”
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อ อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ สศค.ออก โครงการค้ำประกันเงินกู้แก่เอสเอ็มอี หรือ PGS9 เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท. ให้มากขึ้น คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนการจ้างงานนั้น จะเน้นจ้างงานในชุมชนมากที่สุด โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ รวมถึงจ้างชาวบ้านลง พื้นที่เพื่อเก็บฐานข้อมูลเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ของภาครัฐ คาดจะเกิดการจ้างงานใหม่ 400,000คน
สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวที่จะออกมานั้น จะให้สิทธิลดหย่อนภาษีหรือไม่ กำลังให้สรรพากรพิจารณาอยู่ เพราะต้องกระตุ้นกลุ่มคนที่มีเงินให้ออกมาใช้จ่ายให้ได้ ส่วนที่เอกชนขอยืดหนี้ออกไป 2 ปีนั้น ยังบอกไม่ได้ว่าจะยืดหนี้ได้หรือไม่ แต่ขอให้ ธปท.พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเอกชนเพิ่ม “เรื่องกระตุ้นจีดีพีจะได้เท่าไรนั้น เลิกพูดได้แล้ว เพราะคาดการณ์ยาก มีปัจจัยนอกเหนือการควบคุม สิ่งที่รัฐทำได้คือ การจ้างงาน การสร้างอาชีพใหม่ หลังวิกฤติโควิด-19”
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะ กรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจเต็มคณะ ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ มีวาระสำคัญคือการติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย และหามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน ซึ่งต้องมาดูว่าจะปรับปรุง ผ่อนปรนเงื่อนไขอย่างไรได้บ้าง เพราะเดิม ครม.เศรษฐกิจได้ประเมินว่า โควิด-19จะกระทบเศรษฐกิจ 3 เดือน และจะทยอยฟื้นตัวได้ครึ่งปีหลัง แต่เมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจเดือน เม.ย.- พ.ค. เครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งการส่งออกที่ติดลบมาก การท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 100%ตัวเลขหนี้ NPL ที่เพิ่มขึ้นมาก และสถานการณ์โควิดหลายประเทศยังไม่ดีขึ้น ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมากระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยวจะกินเวลายาวนานกว่าที่คาดไว้ อย่างเร็วเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวได้ไตรมาส4 จากการลงทุนภาครัฐและเม็ดเงินต่างๆที่ลงไปได้มากขึ้น
ส่วนการหารือเรื่องการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะต่อไป นายกรัฐมนตรีอยากให้ทำเรื่องนี้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น มีมาตรการใหม่ๆมาขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในระยะยาว ต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นการผลักครั้งใหญ่ (Big push) เพื่อยกระดับประเทศให้ทะยานไปข้างหน้า “นายกรัฐมนตรีสั่งการว่าให้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ 2 สัปดาห์ครั้ง เพื่อใช้เวทีนี้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ให้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจรับทราบ และหารือมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมร่วมกัน”.