นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ประเมินการใช้จ่ายของผู้ปกครองทั่วประเทศ ในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 ที่คาดจะมีการใช้จ่าย 40,000-50,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 5,000-10,000 ล้านบาท เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อประคองสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัว เพราะหลายรายถูกลดเงินเดือน บางรายเสี่ยงต่อการตกงาน และบางรายตกงานแล้ว และประชาชนนำทรัพย์สิน เช่น ทองคำ นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับต่างๆ เข้าโรงรับจำนำก็ไม่คึกคักเหมือนปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะต้องการประหยัดรายจ่าย แต่บางรายไม่มีของมีค่าแล้ว เพราะได้นำไปขาย หรือจำนำก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ลดลงเช่นกัน เพราะมีการใช้จ่ายเต็มวงเงินแล้ว
“ค่าใช้จ่ายที่ลดลงจำนวนมาก เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนกวดวิชายังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มที่จากโควิด-19 และการเว้นระยะห่างทางสังคม และยังพบว่า ผู้ปกครองจำนวนมากเลื่อนระยะเวลาให้บุตรหลานเข้าเรียนระดับเตรียมอนุบาลออกไปอีก 1 ปี เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ที่สำคัญหลายโรงเรียนลดค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากเด็กนักเรียน ในด้านค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนแปลงโรงเรียนใหม่ (แป๊ะเจี๊ยะ) จากปกติในปีก่อนที่มีการเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะเฉลี่ยที่ 10,373 บาทต่อคน”
ขณะที่ปีนี้ถือว่าเป็นปีแรกที่ศูนย์ฯไม่ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เพราะเข้าใจสถานการณ์ผู้ปกครอง ที่ส่วนใหญ่กังวลกับการใช้จ่าย หนี้สิน และการทำงานว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากที่หลายบริษัทลดเงินเดือน ลดคน และเลิกกิจการ ดังนั้น ในภาพรวมคาดว่า ปีนี้จะมีการใช้จ่ายลดลง 10-20% ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
“เมื่อปีการศึกษา 2562 จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน พบว่า มีเงินสะพัดทั่วประเทศ 54,972 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เริ่มทำผลสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบุตรหลาน ด้านค่าเล่าเรียนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ผู้ปกครองนำเงินมาจับจ่ายเพิ่มขึ้น และการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเล่าเรียนพิเศษแก่บุตรหลานเพิ่มขึ้น”.