นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบจากมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ประกาศให้สารเคมีทางการเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เพื่อนำความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งของผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้บริโภค มาเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ที่แม้ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติแล้ว แต่ต้องการให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไข เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อม
“ปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกมีมาตรฐานตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) อยู่แล้ว ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับเกี่ยวกับการยอมให้มีสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในสินค้าได้ไม่เกินปริมาณที่โคเด็กซ์กำหนด หากผลการศึกษาจากทุกฝ่ายออกมาอย่างไร หรือต้องการเสนอแนะทางออกเรื่องนี้อย่างไร หอการค้าไทยก็จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทางออกอีกครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้หอการค้าไทยได้ทำหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของประกาศดังกล่าว ที่กำหนดให้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปเป็นวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จากเดิมมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เพราะปัจจุบันรายละเอียดต่างๆไม่ชัดเจนมากนัก ประกอบกับผู้ประกอบการและเกษตรกร ยังไม่มีความพร้อมที่จะยกเลิกการใช้ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากต้องกำหนดปริมาณสารตกค้างของสารเคมีดังกล่าวในสินค้าเกษตรเป็นศูนย์ จะทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตินี้ด้วย
ทั้งนี้ เพราะสารเคมีดังกล่าวใช้ในการเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหาร ทั้งของคนและอาหารสัตว์จำนวนมาก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ เป็นต้น อีกทั้งในปัจจุบัน อาหารสำเร็จรูปของไทย ผ่านมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยทางอาหารอยู่แล้ว แม้จะยังมีการใช้สารเคมีดังกล่าวอยู่.