รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยัน สำนักงานประกันสังคม จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย "โควิด–19" แก่ผู้ประกันตนแล้ว 984,005 ราย เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 5,316.066 ล้านบาท
วันที่ 19 พ.ค. 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย สถานการณ์โควิด-19 ให้แก่ผู้ประกันตนแล้ว (ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2563) จำนวน 984,005 ราย เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,316.066 ล้านบาท ทั้งนี้ มีผู้ยื่นคำขอฯ และยังไม่ได้รับเงินบางส่วน เนื่องจากเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้แจ้งผลการวินิจฉัยให้ทราบแล้ว เป็นจดหมายลงทะเบียนส่งทางไปรษณีย์
สำหรับผู้ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์แล้วยังไม่ได้รับเงิน หรือได้รับหนังสือแจ้งปฏิเสธการจ่ายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สามารถติดตามหรือยื่นเรื่องอุทธรณ์ตามช่องทางต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ยื่นเรื่องด้วยตนเอง ได้ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (โควิด-19) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครทั้ง 12 พื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทุกจังหวัด และในส่วนกลาง ตั้งอยู่ที่สำนักงานประกันสังคมสำนักงานใหญ่ ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งทุกศูนย์ฯ เปิดให้บริการในวันราชการ เวลาทำการ 08.00 ถึง 18.00 น.
2. ส่งทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครทั้ง 12 พื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมสำนักงานใหญ่ ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวจะไม่มีการรับยื่นทางระบบออนไลน์
สำหรับการยื่นขอรับสิทธิ์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยนั้น ตาม "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563" กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินว่างงานได้รับสิทธิ์ตามความเป็นจริงแต่ไม่เกิน 90 วัน ในช่วงของระยะเวลาการหยุดงานและไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ส.ค. 2563 ทั้งนี้ทตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับสิทธิ์ได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนที่ได้รับหนังสือแจ้งปฏิเสธการจ่ายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ขอให้มายื่นเรื่องอุทธรณ์ ตามช่องทางดังกล่าวข้างต้น ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ประกันตนทราบ (วันที่ได้รับจดหมายลงทะเบียน) และสำหรับผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงิน เนื่องจากนายจ้างยังไม่แจ้งรับรองการหยุดงานนั้น นายจ้างบางรายไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากมีการย้ายที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อจึงไม่เป็นปัจจุบัน หรือเป็นเบอร์โทรศัพท์สถานประกอบการที่ปิดกิจการ ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อติดตามนายจ้าง หรือหาหลักฐานประกอบการจ่ายสิทธิ์ให้แก่ผู้ประกันตนโดยเร็วที่สุด.