ที่ประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานได้ชี้แจงถึงแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยาโดยกระทรวงเกษตรฯ ด้วยการประกันราคาและการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมนั้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะการนำงบประมาณแผ่นดินมาให้เกษตรกรใช้ซื้อสารเคมีเกษตรในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือบริษัทผู้ค้าและร้านค้าสารเคมีเกษตร ส่วนเกษตรกรยังต้องใช้สารเคมีเช่นเดิม แถมฉีดพ่นบ่อยขึ้น จ้างแรงงานเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนี้เกษตรกรจะไหวได้อย่างไร และที่บอกว่าอาจให้กระทรวงสาธารณสุขปรับกฎระเบียบสารตกค้างเพื่อให้สามารถนำเข้าถั่วเหลืองซึ่งใช้ไกลโฟเซตได้ หากดำเนินการจริงก็เป็นการเอื้อกลุ่มนายทุนนำเข้ากลุ่มเดียวและแก้ปัญหาเพียงด้านเดียวให้เฉพาะกลุ่มผู้นำเข้าถั่วเหลืองเท่านั้น และการปรับค่าสารตกค้างดังกล่าวให้สูงขึ้นเป็นกรณีพิเศษจริง ย่อมแสดงว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข และองค์กรเอกชน (NGO) กำลังพูดไม่จริงเรื่องที่ห่วงใยผู้บริโภคคนไทย ถ้าเป็นเช่นนี้ควรแบนไกลโฟเซตไปด้วยเลย
ด้านสมาคมเกษตรปลอดภัยและเครือข่าย เรียกร้องให้นายกฯ หามาตรการลดผลกระทบให้เกษตรกรโดยด่วน หากยังยืนยันจะออกประกาศกระทรวงให้สารพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ท่านคิดว่า ในเวลานี้เกษตรกรยังทุกข์ยากไม่พอ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องออกมาบอกว่าจะให้เกษตรกรทำอย่างไรกับฤดูกาลปลูกที่จะถึง จะให้อุตสาหกรรมต่างๆทำอย่างไร มากกว่าที่จะตั้งงบเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร เพราะไม่ต้องการให้เอาภาษีของประชาชนมาอุ้มเกษตรกรในเรื่องนี้ เนื่องจากต้องใช้งบมหาศาล หน้าที่คือต้องช่วยให้เกษตรกรประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ดีกว่าให้เกษตรกรไปหาวิธีการเองไปตายเอาดาบหน้า และขอบอกไปถึงเกษตรกรทุกคน อย่าหลงเชื่อบริษัทขายสารเคมีว่ามีสารทดแทนพาราควอตได้และขอเตือนทุกบริษัทอย่าหากินกับความยากลำบากเกษตรกร.