การบินไทย กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ขาดทุนสะสม 240,000 ล้านบาทจนยากต่อการตัดสินใจจะฟื้นฟูกิจการ หรือให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ ขณะที่สิ้นเดือน พ.ค.สภาพคล่องจะหมดลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไลฟ์สดแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านเพจไทยคู่ฟ้า ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งขณะนี้ไม่มีวาระพิจารณาใน ครม.คือไม่ได้นำเข้าอย่างเป็นทางการ “ต้องเข้าใจอย่าเพิ่งไปให้ข่าวจนมากเกินไป ผมย้ำเพียงอย่างเดียวว่าจะต้องเข้าสู่แผนการฟื้นฟูที่มีประสิทธิผล เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายตัว”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอร้องบุคลากรทั้งในองค์กร นอกองค์กร และสหภาพรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันตรงนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไปกันไม่ได้ สุดท้ายคนก็จะไม่มีอาชีพ ไม่มีแรงงาน ไม่มีลูกจ้าง พนักงาน ไม่มีเงินจ้าง นั่นคือการล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น
จึงต้องขอความร่วมมือในการจัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้พิจารณาแล้ว และนำผลการประชุมเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ทั้งหมดยังต้องดำเนินการอีกหลายอย่าง เพื่อนำเข้า ครม.อนุมัติได้ ซึ่งแผนการฟื้นฟูจะต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ขอความร่วมมือจากบรรดาหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“ผมจำเป็นต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นท่านเดือดร้อน องค์กรของท่านมีคน 20,000 กว่าคนจะเกิดปัญหาทันที ถ้าท่านไม่ช่วยกัน แล้วใครจะช่วย ต้องขอความร่วมมือจากพวกท่านด้วย ผมไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับใคร ไม่ได้มีผลประโยชน์กับการบินไทยอยู่แล้ว”
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐวิสาหกิจอื่นๆ มีแผนการฟื้นฟู แต่การบินไทยที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามแผนฟื้นฟู จึงต้องทำแผนฟื้นฟูใหม่ขึ้นมา ส่วนเรื่องของการให้กู้ การค้ำประกันเงินกู้ยังไม่มีการพูดตรงนั้น ต้องรับฟังเสียงพี่น้องประชาชนด้วย แต่ทำอย่างไรจะต้องเดินหน้าไปได้ ขึ้นอยู่กับองค์กร และบุคลากรที่เกี่ยวกับสหภาพรัฐวิสาหกิจ
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้เสนอแผนฟื้นฟูการบินไทยเข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันที่ 12 พ.ค.63 และในที่ประชุม ครม.ไม่มีการหารือกันในเรื่องของแผนฟื้นฟู หรือการให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยเลย ก็คงต้องรอให้กระทรวงคมนาคมเสนอเข้ามาก่อน อย่างไรก็ตาม ภายหลัง คนร.มีมติให้ฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ทางกระทรวงคมนาคมจึงได้ไปจัดทำแผนปฏิบัติการหรือ Action Plan เพื่อให้การฟื้นฟูเดินหน้าได้จริง ก็ได้ปรึกษาหารือกับกระทรวงการคลังตลอด ซึ่งถ้าเรียบร้อย กระทรวงคมนาคมคงเสนอเข้า ครม.ต่อไป
ก่อนการประชุม ครม. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้เตรียมนำแผนการฟื้นฟูการบินไทยเสนอเข้า ครม.เป็นวาระพิจารณาจร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่อนุมัติให้นำเข้า พร้อมสั่งให้ไปทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนก่อน อย่างไรก็ตาม แนวทางการฟื้นฟูการบินไทยได้เป็นที่ตกลงกันในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เรียบร้อยแล้ว รู้อยู่แล้วว่าจะเดินทางไปตามแนวทางไหน รู้ข้อดีข้อเสียอยู่แล้ว แต่สุดท้ายต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ครม.ยังไม่ได้พิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทย เนื่องจากฝ่ายบริหารและบอร์ดการบินไทยเพิ่งส่งให้กระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 7 พ.ค. โดยได้กำชับฝ่ายบริหารการบินไทยไปแล้วว่า การปรับปรุงแผนครั้งนี้ จะต้องมีแผนสร้างรายได้ชัดเจน การปรับตัวรองรับธุรกิจการบินในภาวะโควิด-19 ระบาด รวมทั้งความเสี่ยงที่ถูกระบุว่าเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่มี 23 ข้อ ต้องแก้ไขให้หมดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อ มีการใส่เงินเข้าไปเงินเหล่านี้จะต้องไม่สูญเปล่า ซึ่งการปรับปรุงแผนฟื้นฟูที่ให้การบินไทยทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังเป็นแผนที่เดินตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนดไว้ โดยขีดกรอบว่าแผนต้องเสร็จเดือน พ.ค.นี้ เพราะเวลาบริหารสภาพคล่องเหลือไม่มากนัก
“แผนฟื้นฟูการบินไทยต้องไม่เกิดความเสี่ยงในอนาคตแม้สักข้อเดียว เนื่องจากเม็ดเงินที่จะดำเนินการ แม้จะเป็นเงินที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ แต่หากการบินไทยไม่สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้ สุดท้ายก็จะเป็นภาระงบประมาณในฐานะกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งเงินเหล่านี้ก็เป็นภาษีประชาชน ท่ามกลางความจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้เงินป้องกันการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 และเยียวยาประชาชน” นายศักดิ์สยาม กล่าว
รมว.คมนาคมย้ำด้วยว่า หลังฝ่ายบริหารการบินไทยสรุปแผนฟื้นฟูมาแล้วจะร่วมกับรัฐบาลพิจารณาว่าจะเดินต่อไปได้หรือไม่ หากทำต่อไปไม่ได้ ก็ต้องใช้แนวทางอื่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการบินไทยมีการขาดทุนสะสมอยู่สูงถึง 240,000 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ ครม.ตัดสินใจ ส่วนที่ระบุว่าจะปล่อยให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลนั้น เป็นเรื่องของอนาคต และอยู่ที่เจ้าหนี้จะต้องเป็นผู้ร้องต่อศาล หากเห็นว่าการบินไทยไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้.