The Issue : “เซ็ตซีโร่” การบินไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

The Issue : “เซ็ตซีโร่” การบินไทย

Date Time: 12 พ.ค. 2563 05:03 น.

Summary

  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการหยิบยกการแก้วิกฤติการบินไทยขึ้นมาพูดคุยกัน หากจำกันได้ตั้งแต่ปี 2557 สมัยเริ่มรัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหา

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการหยิบยกการแก้วิกฤติการบินไทยขึ้นมาพูดคุยกัน หากจำกันได้ตั้งแต่ปี 2557 สมัยเริ่มรัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหา โดยจัดให้การบินไทยเป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่ต้องผ่าตัดปรับโครงสร้างยกใหญ่ และเริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เช่น การปรับลดคน ลดเส้นทางบิน เปลี่ยนระบบการขาย ตัดสวัสดิการ สิทธิตั๋วฟรี การจ่ายภาษีแทนพนักงาน ไปจนถึงชะลอแผนซื้อเครื่องบินใหม่ แต่จนแล้วจนรอดถึงวันนี้ “การบินไทย” ก็ยังบินไม่ขึ้นสักที

หากดูผลประกอบการ ยิ่งฟ้องถึงความล้มเหลวในการฟื้นฟูเป็นอย่างดี เพราะท่ามกลางความเฟื่องฟูของธุรกิจสายการบินทั่วโลก การบินไทยมีแต่ทรงกับทรุด ในปี 2557 มีรายได้ 203,966.62 ล้านบาท ขาดทุน 15,611.62 ล้านบาท, ปี 2558 รายได้ 192,723.20 ล้านบาท ขาดทุน 13,067.67 ล้านบาท, ปี 2559 รายได้ 181,446.21 ล้านบาท พลิกกลับมากำไรเล็กน้อย 15.14 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 รายได้ 190,534.63 ล้านบาท ขาดทุน 2,107.35 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 199,500 ล้านบาท ขาดทุน 11,569 ล้านบาท และปี 2562 รายได้ 184,046 ล้านบาท ขาดทุน 12,424 ล้านบาท

ล่าสุดปีนี้อาการยิ่งน่าเป็นห่วงหนักกว่าเดิม เพราะถูกวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมจนต้องหยุดบินหลายเดือน และทั้งปีน่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การบินไทยยังกำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน โดยกระแสเงินสดเริ่มติดลบตั้งแต่เดือน พ.ค. มีหนี้สินคงที่กว่า 240,000 ล้านบาท และหนี้สินหมุนเวียนอีก 84,000 ล้านบาท

ขณะที่เสียงเรียกร้องให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ประกาศให้การบินไทย “ล้มละลาย” เริ่มดังขึ้น...เพราะแก้ไปก็มีแต่เจ๊ง เจ็บหนักกว่าเดิม แถมคำว่า “สายการบินแห่งชาติ” ก็เป็นเพียง “มายาคติ” ที่ใช้หาความชอบธรรมตอนใช้ภาษีของประชาชนหลายหมื่นล้านเข้าไปโอบอุ้มเท่านั้น

ทั้งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรกับสายการบินแห่งนี้เลย

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่คิดแบบนั้น ล่าสุด ประกาศขอให้โอกาสการบินไทยเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหากปล่อยให้เจ๊งคามือตอนนี้จะกลายเป็นตราบาปติดตัวรัฐบาล จึงได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง-กระทรวงคมนาคม ช่วยกันทำแผนฟื้นฟูการบินไทย และอัดฉีดเงินต่อลมหายใจตามที่การบินไทยกล้าขอมากว่า 50,000-70,000 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขให้การบินไทยต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ไปด้วยเพื่อไม่ให้เงินก้อนนี้สูญเปล่า

อย่างไรก็ดี แผนล่าสุดที่การบินไทยทำเสนอมากลับไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติเลย มีแค่แผนใช้เงิน ทำให้ต้องเลื่อนส่งแผนเข้า ครม.ออกไป

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แผนกู้วิกฤติรอบนี้อาจซ้ำอีหรอบเดิม คือไม่มีอะไรใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานแบบเดิมๆ ไล่ตั้งแต่ทัศนคติของคน พนักงานยัง “จมไม่ลง” เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าองค์กร ประกอบกับโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่โตเกินไปและถูกครอบงำโดยการเมือง ทำให้การบริหารขาดประสิทธิภาพรั่วไหล

การลดพนักงาน ลดเที่ยวบิน ยกเลิกซื้อเครื่องบินใหม่ อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะหากลดไปแล้วแต่ธุรกิจเดินไม่ได้ ก็รอวันเจ๊งอยู่ดี โจทย์ใหญ่จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะกำหนดทิศทาง และแผนปฏิบัติอย่างไรให้ “การบินไทย” กลับมาแข่งได้ จากนั้นค่อยนำทรัพยากรที่มีอยู่ หรือที่ต้องหาใหม่เติมลงไป ส่วนเกินที่เป็นเนื้อร้ายก็ค่อยกำจัดทิ้ง

การแก้ปัญหาการบินไทยต้องเริ่มต้นด้วยการ “เซ็ตซีโร่” ไล่ตั้งแต่ปรับสถานะองค์กรจากรัฐวิสาหกิจให้แปลงสภาพเป็น “โฮลดิ้งคัมพานี” เพื่อทำธุรกิจการบินอย่างเดียว ส่วนหน่วยธุรกิจ (BU) เสริม 5 หน่วย คือ 1.ฝ่ายช่าง 2.ฝ่ายขนส่งสินค้าและไปรษณีย์ภัณฑ์ทางอากาศ 3.ครัวการบิน 4.บริการลูกค้าบนเครื่องบินและพื้นดิน 5.บริการอุปกรณ์ภาคพื้นดิน ให้แยกเป็นบริษัทย่อยหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง ไม่ต้องปะปน “เตี้ยอุ้มค่อม” แบบเก่า ซึ่งจะช่วยลดการแทรกแซงทางการเมืองลงได้

หาก “เซ็ตซีโร่” การบินไทยได้สำเร็จ เดินหน้าหน่วยธุรกิจเพื่อให้ไปต่อได้ เงินช่วยเหลือ 50,000-70,000 ล้านบาท ก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่หากการบินไทยจะยอมปรับและเปลี่ยน

ขณะที่รัฐบาลต้องกล้าหาญและจริงใจ เดินหน้า “เซ็ตซีโร่” ครั้งใหญ่ ซึ่งต้องทำตั้งแต่โครงสร้างองค์กร ผู้บริหาร พนักงาน และวางทิศทางในอนาคตที่ชัดเจน ไม่ใช่มองแค่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว

เพราะหากยังทำแผนแบบเดิมๆ โยนเงินเข้าไปอุ้ม เชื่อว่าปัญหาการบินไทยคงไม่จบ และในไม่ช้าก็จะกลับมาสู่วังวนเบียดเบียนเงินภาษีประชาชนอยู่ร่ำไป...

สุรางค์ อยู่แย้ม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ