จ่ายเงินเยียวยา 16 ล้านราย "คลัง" ส่งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ตรวจสอบข้อมูลเข้มข้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จ่ายเงินเยียวยา 16 ล้านราย "คลัง" ส่งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ตรวจสอบข้อมูลเข้มข้น

Date Time: 7 พ.ค. 2563 08:12 น.

Summary

  • “คลัง” แจกเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท ถึงมือประชาชนงวดที่ 2 รวม 12.8 ล้านราย ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ และงวดที่ 3 ครบ 16 ล้านราย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“คลัง” แจกเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท ถึงมือประชาชนงวดที่ 2 รวม 12.8 ล้านราย ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ และงวดที่ 3 ครบ 16 ล้านราย ภายในเดือนมิ.ย. จากที่มีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ 28.8 ล้านคน พร้อมส่งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ 2.3 หมื่นคน ลุยตรวจสอบข้อมูลป้องกันทุจริต

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล โดยประชาชนที่ลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง จะได้รับเงิน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน รวมเป็น 15,000 บาท ล่าสุด จนถึงวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา มียอดลงทะเบียน 28.8ล้านราย และขณะนี้สามารถจำแนกกลุ่มผู้ลงทะเบียนว่าได้รับสิทธิ์ หรือไม่ได้รับสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังใช้เวลา 1 เดือนครึ่ง ในการรับลงทะเบียน และเริ่มแจกเงินถึงมือผู้ได้รับสิทธิ์ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา และได้เปิดให้มีการลงทะเบียนวันแรก เมื่อวันที่ 28 มี.ค.

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่เช่นเดียวกันที่มีคนลงทะเบียน 14.6 ล้านราย ใช้เวลาลงทะเบียน 1 เดือนครึ่ง และตรวจสอบข้อมูลอีก 1 เดือนครึ่ง รวมทั้งหมด 3 เดือน ใช้ระยะเวลานานกว่ามาตรการเยียวยา ที่สามารถเปิดลงทะเบียนจนกระทั่งตรวจสอบข้อมูลและจ่ายเงินได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ถือว่ารวดเร็วกว่ามาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ (ชิม ช้อป ใช้) ที่ให้เวลาลงทะเบียน 2 เดือนครึ่ง

“คนที่รอเงินเยียวยา อาจมองว่ารัฐบาลทำงานล่าช้า แต่คนที่ทำเรื่องนี้ ถือว่าทำงานได้รวดเร็วมาก และมีประสิทธิภาพสูง เพราะมีข้อมูลที่ต้องตรวจสอบมากถึง 28.8 ล้านราย ที่สำคัญเป็นข้อมูลที่กระทรวงการคลังไม่เคยมีมาก่อน จึงใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดเท่าที่จะหาได้ในขณะนี้ ซึ่งการอ่านข้อมูลของเอไอมีความแม่นยำเกือบ 100% จากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง, ธนาคารพาณิชย์, กรมที่จัดเก็บภาษี รวมถึงหน่วยอื่นๆ จนคัดกรองผู้เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา หรือไม่ได้รับเงินเยียวยา 16 ล้านราย ได้ภายใน 20-30 วัน เท่านั้น”

ส่ง “ผู้พิทักษ์สิทธิ์” เก็บข้อมูลทั่วไทย

สำหรับขั้นตอนการทบทวนสิทธิ์ กระทรวงการคลังได้แต่งตั้ง “ผู้พิทักษ์สิทธิ์” จำนวน 23,000 ราย เพื่อลงพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีคลังจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล โดยผู้พิทักษ์สิทธิ์ต้องโหลดแอปพลิเคชัน “ผู้พิทักษ์สิทธิ์” เพื่อส่งภาพถ่ายยืนยันตัวตนผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ จำนวน 3 ภาพ ได้แก่ 1. ภาพถ่ายของผู้ยื่นทบทวนสิทธิ์ 2.ภาพถ่ายบัตรประชาชน 3.ภาพถ่ายการประกอบอาชีพหรือสถานประกอบการ

“ผู้พิทักษ์สิทธิ์จะเป็นคนชี้ขาดว่าข้อมูลถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากข้อมูลที่ส่งมาครบถ้วน สถานะผู้ทบทวนสิทธิ์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นผู้ผ่านสิทธิ์ ที่จะได้รับเงิน 5,000 บาทแน่นอน ส่วนกลุ่มที่ติดต่อไปแล้วมีการบ่ายเบี่ยงให้ข้อมูล เช่น มีผู้ลงทะเบียนรายหนึ่งระบุว่า อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่เมื่อโทรศัพท์สอบถามข้อมูล บอกว่าอยู่จังหวัดจันทบุรี พอจะให้เจ้าหน้าที่จันทบุรีเข้าไปตรวจสอบก็บอกว่าต้องกักตัว 14 วัน เพราะเสี่ยงโควิด-19 ซึ่งส่อว่าอาจเจตนากรอกข้อมูลเท็จ กรณีดังกล่าว ผู้พิทักษ์สิทธิ์สามารถตัดสิทธิ์ได้ทันที และล่าสุดมีผู้มายกเลิกลงทะเบียนแล้ว 910,000 ราย”

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่อยากได้เงิน แต่ไม่มีสิทธิ์ เช่น กรณีกรอกข้อมูลลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท ขณะที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งระบบสามารถตรวจสอบเลขไอพี แอดเดรส คือหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ คนกลุ่มนี้จึงต้องมายกเลิกลงทะเบียน เพราะไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้มาตรการเยียวยา

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีรายได้ประจำอยู่แล้ว มาลงทะเบียนเพราะอยากได้เงิน เมื่อกระทรวงการคลังรับทราบข้อมูลดังกล่าว ก็ขอให้คนกลุ่มนี้แจ้งยกเลิกโดยระบุว่า “ขอสละสิทธิ์มาตรการเยียวยา” เพิ่มเติม เพราะไม่ต้องการแจ้งจับ เพื่อดำเนินคดีทุจริตจากการกรอกข้อมูลเท็จ ตัวเลขล่าสุด มีคนขอสละสิทธิ์แล้ว 3,100 ราย

จ่าย 5 พันบาทครบ 16 ล้านราย

สำหรับจำนวนผู้เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยาจำนวน 16 ล้านราย ขณะนี้ได้ผ่านการตรวจสอบและผ่านการพิจารณาแล้ว 12.8 ล้านราย โดยกระทรวงการคลังได้โอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ไปแล้ว 9.8 ล้านราย เป็นจำนวนเงิน 49,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 3 ล้านราย จะเร่งทยอยโอนเงินให้ภายในสัปดาห์หน้า

“ประชาชนที่ได้รับเงิน 5,000 บาทงวดแรกเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา และในเดือนต่อไปคือเดือน พ.ค. จะได้รับเงินก้อนที่สองวันที่ 8พ.ค. และรอบที่ 3 วันที่ 8 มิ.ย. เพื่อให้สามารถวางแผน การใช้จ่ายเงินได้อย่างถูกต้อง”

นายลวรณ กล่าวว่า จากจำนวนกลุ่มแรงงาน ที่มีงานทำทั่วประเทศ 38 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกร 17 ล้านราย และกลุ่มประกอบอาชีพอิสระอีกจำนวน 14 ล้านราย รวมเป็น 31 ล้านราย ถือว่าเป็นข้อมูลวัยทำงานที่อัปเดตข้อมูลมากที่สุดเท่าที่รัฐบาลเคยมีมา เพราะก่อนหน้านี้ ข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้าง และลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีเคยมีการจัดเก็บข้อมูลมาก่อน

ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) และเมื่อรวมกับข้อมูลเดิมที่รัฐบาลมีอยู่ในมือแล้ว เช่น ข้อมูลผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทห้างร้าน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูลผู้สูงอายุ เป็นต้น จะทำให้รัฐบาลสามารถหยิบยกมาใช้เพื่อออกมาตรการต่างๆ ได้อย่างตรงจุด ถูกฝาถูกตัว และไม่รั่วไหลเหมือนในอดีตที่ผ่านมา.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ