ทันทีที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ประกาศถอนเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์เสนอจะขอเจรจาเข้าเป็นสมาชิก “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership : CPTPP) ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.63 โดยให้เหตุผลว่า สังคมยังมีความกังวล และจะไม่เสนอให้ ครม.พิจารณาอีก ตราบใดที่สังคมยังมีความเห็นแย้งกันอยู่
ถือเป็นการ “หัก” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษาข้อดี และข้อเสีย ของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. และเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ
อีกทั้งยังทำให้เห็นภาพอีกว่ารัฐบาลเสียงแตก และเรื่องนี้กลายเป็นปมขัดแย้งทางการเมืองไปเสียแล้วที่สำคัญใครจะเป็นผู้สางปมความขัดแย้งนี้?
แม้ผลการศึกษาที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนศึกษาข้อดี และข้อเสียของการเข้าร่วม ระบุชัดว่า การเข้าร่วมจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.12% มูลค่า 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% มูลค่า 148,240 ล้านบาท
แต่หากไม่เข้าร่วม GDP จะลดลง 0.25% มูลค่า 26,600 ล้านบาท การลงทุนลดลง 0.49% มูลค่า 14,270 ล้านบาท รวมทั้ง จะเสียโอกาสขยายการค้า การลงทุน และเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ขณะที่เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง การส่งออก ไปประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.85% และ 9.92% ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไทยไป CPTPP เพิ่มขึ้น 3.23% เงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflow) ของเวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 62 มีมูลค่า 16,940 และ 63,939 ล้านเหรียญสหรัฐฯตามลำดับ แต่ไทย 9,010 ล้านเหรียญฯเท่านั้น
ขณะนี้จึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อเรื่องนี้อย่างไร ยังยืนยันเข้าร่วมเป็นสมาชิก หรือถอยทัพกันแน่ และที่จริงไทยจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ อย่างไร
“ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์กูรูด้านการค้าระหว่างประเทศ และผู้ปลุกปั้นการเข้าเป็นสมาชิกมาตั้งแต่แรก ลองฟังความคิดเห็นว่าเป็นอย่างไร
ผมมองว่า ในมุมของการค้า การที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP น่าจะมีประโยชน์สำหรับไทยมากกว่าเสีย เพราะวันนี้ หลายประเทศใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ความ ต้องการซื้อสินค้าจากไทยลดลง ทำให้การส่งออกของไทยลดลง ส่วนการลงทุนภายหลังโควิด-19 คลี่คลาย ไม่รู้จะเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนมโหฬารหรือไม่
เนื่องจากเห็นชัดเจนแล้วว่าเมื่อ โควิด-19 ระบาดในจีน และจีนล็อก-ดาวน์ประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดหมด โรงงานอุตสาห-กรรมปิด กระทบต่อการผลิตของนักลงทุน หลายประเทศจึงเริ่มคิดจะย้ายฐานลงทุนออกจากจีน เพื่อกระจายความเสี่ยง และมองหาแหล่งผลิตสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่ใกล้กัน ถ้าไทยอยู่ในซัพพลายเชนเดียวกัน หรือสินค้าจากไทยได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษี ก็จะเข้ามาลงทุนในไทย
“มองในอนาคต ไทยจะทำอย่างไร แม้ วันนี้เรามีความตกลงการค้าเสรี (FTA) เก่าอยู่ แต่การส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศน้อยลง เรามีช่องทางทำการค้ากับต่างประเทศอย่างไร ถ้าเราไม่เปิดทุกช่องทางทำการค้าจะลำบาก ไม่มีเม็ดเงินเข้ามาเสริมรายได้ของประเทศ ดังนั้น ไทยควรเปิดทุกช่องทางการค้า เมื่อโควิด-19 คลี่คลายการซื้อสินค้าจะกลับมา ถ้าเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มการค้าเดียวกัน หรืออยู่ในกลุ่มเปิดเสรีเดียวกัน ก็ต้องวิ่งไปซื้อ สินค้าจากประเทศเหล่านั้นก่อน และไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไร”
แต่ในมุมของคนต่อต้านและเป็นห่วงข้อกังวลต่างๆก็เข้าใจ เพราะอยู่ดีๆกระทรวงพาณิชย์เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ไทยเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยที่ไม่ได้อธิบายว่าในข้อบทที่ตกลงกันของความตกลง CPTPP มีประเด็นใดที่ยังอยู่ หรือเอาออกไปแล้ว หรือแม้แต่อธิบายแล้วคนก็ยังไม่เคลียร์ไม่เข้าใจ ทำให้คนต่อต้านสับสนว่าจริงๆแล้วควรหรือไม่ที่จะเข้าเป็นสมาชิก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในภาคการค้าเห็นว่าไม่เข้าร่วมดีกว่า แต่กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่สนับสนุนให้เข้าร่วม
หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าการเข้าเป็นสมาชิก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องศึกษาใหม่แล้วว่า หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าไทยไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกจะเกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจไทยหรือไม่ อย่างไร หรือไทยจะเสียประโยชน์ด้านใดหรือไม่ อย่างไร หรือการเป็นสมาชิกจะช่วยประเทศได้อย่างไร เพราะสถานการณ์ต่างๆเปลี่ยนไปแล้วจากเมื่อครั้งที่กรมได้เริ่มต้นว่าจ้างบริษัทเอกชนศึกษาไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนประเด็นที่เป็นข้อกังวล หรือประเด็นที่ประชาชนสงสัย ก็ต้องชี้แจงว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ไม่ใช่พูดแต่ข้อดี แต่แทบไม่พูดถึงข้อเสีย หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร หรือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมรับการแข่งขันเลย ที่สำคัญไม่พูดถึงเลยว่าจะช่วยเหลือเยียวยา หรือมีอะไรทดแทนให้กับผู้เสียหาย เพราะถ้าพูดแต่ข้อดี วันนี้ไม่มีใครเชื่อแล้วว่าการเข้าร่วมจะดีกับไทย
ผมมองว่า ถ้าเราไม่ทำเอฟทีเอ การพัฒนาการเกษตรของไทยดีขึ้น หรือไม่ ที่ผ่านมาการพัฒนา ภาคเกษตรไม่มีใครให้ความสนใจเท่าที่ควร หรือแม้กระทั่งการพัฒนายา หรือทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมามีอะไรดีขึ้นหรือไม่ ดังนั้นถึงเวลาที่อย่าให้เอฟทีเอต้องกลับมาบังคับเราให้พัฒนาในด้านต่างๆ แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาทุกด้านให้แข็งแรง
“ทำไมเวียดนาม ชิลี เปรู มาเลเซีย สมาชิก CPTPP มีสินค้าเกษตรเหมือนไทย ซื้อยา และก๊อบปี้ยาคนอื่นเหมือนกันถึงเข้าเป็นสมาชิก เหตุผลหนึ่งที่ฟังจากเวียดนามคือ เพราะต้องการยกระดับมาตรฐานของประเทศเรื่องการค้า แต่ไทยซึ่งอยากเข้าเป็นสมาชิกเหมือนกันไม่ได้บอกจะทำอย่างไรบ้าง วันนี้ยังไม่มีคำตอบ”
ดังนั้น จึงอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะไปทางไหนต่อ จะส่งเสริมการค้าเสรีหรือทำเอฟทีเอ ถ้าเป็นเช่นนั้น ความตกลง CPTPP และ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคระหว่างอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) จะเป็นคำตอบให้การค้าของเราขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แน่นอน แต่ก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบซึ่งรัฐบาลต้องเยียวยาช่วยเหลือผู้เดือดร้อน
ในทางกลับกัน หากคิดว่าไทยอยู่ได้เองโดยไม่ทำเอฟทีเอ และการค้าของไทยจะแข็งแรงได้โดยไม่มีเอฟทีเอ รัฐบาลก็ต้องมีคำตอบว่าจะมีนโยบายทำให้ประเทศมีรายได้จากการส่งออกเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าตอบได้ ก็โอเค แต่วันนี้รัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าไม่เข้าร่วม CPTPP เพราะอะไร เพียงแค่มีคนต่อต้านหรือ ซึ่งการต่อต้านเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ที่ไทยออกตัวจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก ไม่ใช่เพิ่งมาต่อต้านในช่วงนี้ ดังนั้นคนต่อต้านก็ยังไม่สบายใจอยู่ดี เพราะรัฐบาลยังไม่พูดให้ชัดเจนเลยว่าจะยกเลิกเข้าเป็นสมาชิกแล้ว
“ถ้าไม่เอา รัฐบาลก็บอกให้ชัดเจนเลย ถ้าฟังฝั่งไม่เห็นด้วยแล้วและมีเหตุผลหนักแน่น จนหน่วยงานราชการไม่สามารถชี้แจงหักล้างได้ ก็ต้องบอกว่าเราจะยกเลิก ไม่เข้าแล้ว แต่ถ้าฟังฝั่ง เห็นด้วยแล้วบอกว่า เรื่อง UPOV 1991 การทำ CL ยาไทยยังทำได้อยู่ ยังมีทางออก ไม่ใช่ปิดตาย ไม่ใช่จะเสียเปรียบ หรือประเทศจะพัง ก็ต้องเดินหน้า CPTPP ต่อ”
ขณะนี้กรมยังไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ รวมถึงยังไม่ได้ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงถึงนิวซีแลนด์ เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิก เพราะยังไม่มีข้อสั่งการใดๆมาจากระดับนโยบาย แต่ที่ผ่านมากรมได้พูดคุยกับภาคประชาสังคม และระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 61-62 โดยชี้แจงให้เห็นถึงข้อดี และข้อเสียของการเข้าร่วม อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมวิชาการเกษตร ยังได้ร่วมชี้แจงข้อกังวลที่ยังมีความเห็นแย้งด้วย
สำหรับประเด็นที่ยังกังวลอย่างการเข้าถึงยา และการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (CL) ที่เกรงว่าถ้าไทยเป็นสมาชิกแล้วจะไม่สามารถดำเนินการได้ และจะกระทบระบบสาธารณสุขนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาอ่านความตกลงแล้วพบว่า ได้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมถึงการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯถอนตัวออกจากการเจรจา จึงไม่มีข้อบทนี้ในความตกลง และสมาชิกไม่มีข้อผูกพันเรื่องนี้
นอกจากนี้ สมาชิกยังสามารถใช้ CL (การอนุญาตให้ผู้อื่น ที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรยา สามารถผลิตยานั้นๆได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อประโยชน์สาธารณะ) และใช้มาตรการสาธารณสุขเพื่อดูแลการเข้าถึงยาของประชาชนได้ ตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) องค์การ-การค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า
“ถ้าไทยใช้ CL จะไม่เสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง เพราะข้อบทการลงทุนกำหนดชัดว่าจะไม่นำเรื่องการเวนคืน ซึ่งเป็นการคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมาใช้กับ CL รวมถึงจะไม่นำทรัพย์สินทางปัญญามาอยู่ในข้อบทการระงับข้อพิพาทด้วย”
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) แม้ความตกลงบังคับให้สมาชิกต้องเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 แต่ได้ให้ข้อยกเว้นว่าสามารถออกกฎหมายภายในกำหนดข้อยกเว้นให้เกษตรกรในประเทศเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ และใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย
“กรมวิชาการเกษตรชี้แจง เกษตรกรยังเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย นำมาทำเป็นเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกในการปลูกรอบถัดไปได้ และยังขายผลผลิตได้ด้วย เช่น ซื้อเมล็ดพันธุ์แตงโมมาปลูก เมื่อโตเป็นลูกแตงโมก็เอาลูกไปขาย และเก็บเมล็ดพันธุ์บางส่วนมาทำเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกรอบต่อไปได้ แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ขายเป็นเมล็ดพันธุ์ได้”
อย่างไรก็ตาม UPOV 1991 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองรวมถึงพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง หมายความว่า ถ้าไทยเป็นสมาชิก UPOV 1991 เกษตรกรยังเก็บพันธุ์พืชเหล่านี้ไว้ปลูกต่อได้เหมือนเดิม อีกทั้งไม่มีโอกาสทำให้ไทยต้องนำเข้าพืชตัดแต่งทางพันธุกรรม (GMO) เพราะปัจจุบันไทยห้ามนำเข้าพืช GMO อยู่แล้ว แต่ถ้าจะนำเข้ามาก็เพื่อทดลองปลูกในแปลงทดลองเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่สมาชิกเข้ามาประมูลงานของภาครัฐแข่งกับเอกชนไทยได้ ความตกลงเปิดช่องให้กำหนดมูลค่าขั้นต่ำของโครงการได้ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ก็ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน
กรมมองว่าการที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกมีทั้งข้อดี ข้อเสีย การที่เสนอให้ ครม.เห็นชอบ เป็นเพียงขอโอกาสไปคุยเพื่อผลักดันสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นการเตรียมรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต และรูปแบบการค้าที่จะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 บางคนมองว่าสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ไทยทำ FTA ด้วยตั้ง 9 ประเทศ มีเพียง 2 ประเทศ คือ เม็กซิโก และแคนาดาที่ไม่มี FTA ด้วย ยังจะดันทุรังเข้า CPTPP อีกหรือ
ตรงนี้ต้องบอกว่ามี 9 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ที่ไทยทำ FTA ด้วยก็จริง แต่บางประเทศเปิดเสรีใน FTA ไม่เท่ากับใน CPTPP เช่น ญี่ปุ่น ที่มี JETEPA แต่ไม่ได้เปิดตลาดให้ไทยครบทุกสินค้า หรือกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ไม่เอื้อต่อกระ-บวนการผลิตของไทย ทำให้สินค้าไทยส่งออกไปญี่ปุ่นโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแต้มต่อภาษี ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการเห็นตรงกันว่า CPTPP มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นกว่า และไทยสามารถเจรจากับสมาชิก เพื่อให้เราส่งออกโดยได้แต้มต่อทางภาษี
อย่างไรก็ตาม ถ้าระดับนโยบายยืนยันจะเข้าเป็นสมาชิก การเจรจาต้องดูภาพรวม ทั้งเรื่องการค้าสินค้า บริการ ลงทุน และกฎระเบียบต่างๆไม่ได้ดูแท่งเดียว ซึ่งการเจรจาจะต้องมีการต่อรอง ขอข้อยกเว้น หรือขอเวลาปรับตัว เหมือนที่สมาชิกหลายประเทศต่อรองได้ รวมถึงจะมีกลไกเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น จัดตั้งกองทุนลดผลกระทบจากการเปิดเสรี
และที่สำคัญแม้มีสมาชิก 11 ประเทศ แต่ให้สัตยาบรรณไปแล้ว 7 ประเทศ คือ เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม ถ้าเราเข้าเป็นสมาชิกตอนนี้เท่ากับเจรจากับ 7 ประเทศ แต่ถ้าตอนนี้ไม่เข้า และจะเข้าในอนาคตไม่รู้จะต้องเจรจากับอีกกี่ประเทศ เพราะหลายประเทศสนใจจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่แล้ว เช่น อังกฤษ เกาหลีใต้ โคลอมเบีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
“การทำเอฟทีเอมีทั้งดีและเสีย แต่ต้องชั่งน้ำหนักว่าดีหรือเสียมากกว่ากัน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์แล้วเราไม่เข้าร่วมก็จะเสียประโยชน์ เสียโอกาส เพราะความน่าสนใจด้านการค้า การลงทุนของไทยจะลดลง แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าประเทศไม่พร้อมก็ยังไม่ทำ กองทัพจะเดินได้ คนในประเทศต้องหนุน ถ้าไม่หนุน หรือนโยบายยังนิ่งๆ คงต้องรอไปก่อน”.
ทีมเศรษฐกิจ