The Issue : อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

The Issue : อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Date Time: 21 เม.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • ก้าวสู่สัปดาห์ที่ 5 ของการลงทะเบียนในมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานและลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 5,000 บาท 3 เดือน

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ก้าวสู่สัปดาห์ที่ 5 ของการลงทะเบียนในมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานและลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 5,000 บาท 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.63) หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด มีผู้ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 27.5 ล้านราย และมีการโอนเงินช่วยเหลือผู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 8-17 เม.ย.63 จำนวน 3.2 ล้านราย วงเงิน 16,000 ล้านบาท

ขณะที่ในวันที่ 20-21 เม.ย.นี้ รัฐบาลเตรียมจะโอนเงินกลุ่มที่ผ่านเกณฑ์เพิ่มอีก 900,000 ราย รวมเป็น 4.1 ล้านราย เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 20,500 ล้านบาท ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่ารัฐบาลมีเงินจ่ายเยียวยาครบ 3 เดือนแน่นอน

ทั้งนี้กลุ่มอาชีพที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองและได้รับเงินลำดับแรกๆ มีทั้งหมด 4 อาชีพ ได้แก่ 1.ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล 2.มัคคุเทศก์ 3.มอเตอร์ไซค์ และ 4.ผู้ขับรถแท็กซี่ เนื่องจากมีฐานข้อมูลในระบบจากการเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐ ทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ประมวลผลได้รวดเร็ว

ส่วนกลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ มี 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.อายุไม่ถึง 18 ปี 2.คนที่ว่างงานอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น แม่บ้าน เป็นต้น 3.ข้าราชการหรือผู้ได้รับเงินบำนาญ 4.อยู่ในระบบประกันสังคม 5.เกษตรกร 6.นักเรียนหรือนักศึกษา 7.ผู้ค้าออนไลน์ 8.แรงงานก่อสร้าง และ 9.โปรแกรมเมอร์

ต่อมาเมื่อระบบคัดกรองและแจ้งผู้ที่ไม่ผ่านสิทธิรับเงินเยียวยารอบแรกแล้ว กลับเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบเอไอ ที่ใช้คัดกรองว่า “ไม่มีความแม่นยำ” โดยมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ ถูกระบุว่าอยู่ในกลุ่มเกษตรกรทั้งที่ประกอบอาชีพค้าขาย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักศึกษาทั้งที่ไม่เคยกู้ยืมในระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาก่อน หรือถูกระบุว่าเป็นผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นลูกจ้างในร้านค้าซึ่งสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมา ชี้ให้เห็นว่าระบบการตรวจสอบยังมี “ช่องโหว่” อยู่มาก ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนตัวจริงไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท นำมาสู่การเผาเครื่องมือทำมาหากิน การร้องไห้ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ รวมถึงการบุกมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อร้องทุกข์กับรัฐบาลโดยตรง

ดังนั้นจึงทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ที่ได้รับเงินจำนวน 5,000 บาท จำนวน 9 ล้านคนตามที่รัฐบาลคาดไว้ เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนตัวจริงหรือไม่ เหตุใดผู้ลงทะเบียนอีกจำนวน 18 ล้านราย หรือกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมดกว่า 27 ล้านราย ถึงไม่ได้รับสิทธิ์ ทั้งที่บางคนแทบไม่มีเงินกินข้าว หรือต้องนำสมบัติชิ้นสุดท้ายที่มีอยู่ไปแลกเป็นเงินที่โรงรับจำนำ ในขณะที่บางรายมีเงิน ใส่ทองเส้นใหญ่โชว์ในโลกโซเชียล กลับได้เงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลง่ายๆ

ทั้งนี้จึงเป็นที่มาของปุ่ม “ทบทวนสิทธิ์” ที่เกิดขึ้นในวันที่ 20 เม.ย.นี้ หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลมีการเพิ่มปุ่มแล้ว 4 ครั้ง คือ 1.ตรวจสอบสถานะ 2.เปลี่ยนแปลงข้อมูล 3.ให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่ลงทะเบียนและผู้ที่กรอกข้อมูลผิดพลาด เช่น ใส่คำนำหน้าผิด กรอกเลขบัญชีธนาคารผิด เป็นต้น และ 4.ปุ่มยกเลิกการลงทะเบียน สำหรับผู้ที่เจตนากรอกข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะได้รับโทษตามกฎหมาย

ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับเงินเพิ่มเติม หลังจากมีการทบทวนสิทธิ์ คือ กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ที่ทำงานและเรียนไปด้วย (พาร์ทไทม์) กลุ่มแรงงานก่อสร้าง ที่พิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จริง กระทรวงการคลังก็เตรียมคืนสิทธิ์ให้ในภายหลัง รวมทั้งกลุ่มผู้พิการ คนชรา และคนไร้บ้าน ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาด้วย

ขณะที่กรณีถูกระบุว่าเป็นเกษตรกร เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวเคยลงทะเบียนว่าเป็นครอบครัวเกษตร หรือปัจจุบันทำอาชีพอื่นแล้ว กระทรวงการคลังจะพิจารณาจากอาชีพปัจจุบันเท่านั้น เช่น แต่ก่อนทำนา แต่ปัจจุบันขับแท็กซี่ ผู้ที่ขอทบทวนสิทธิ์จะต้องแนบหลักฐานใบขับขี่สาธารณะ เป็นต้น ส่วนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร จำนวนกว่า 9 ล้านครัวเรือน รัฐบาลได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือต่อไป โดยสาเหตุที่การช่วยเหลือในกลุ่มเกษตรกรน้อยกว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบ เพราะอาชีพเกษตรกรยังสามารถประกอบอาชีพได้

สำหรับปุ่มทบทวนสิทธิ์นี้ จะต้องลงทะเบียนผ่านออนไลน์เท่านั้น โดยระยะแรกจะเปิดกว้างสำหรับกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรอง ส่วนระยะต่อไปจะขยายไปยังกลุ่มผู้ที่ได้กดยกเลิกการลงทะเบียน เพราะความเข้าใจผิดหรือไม่ตั้งใจด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนทบทวนสิทธิ์ราว 4 ล้านราย

นอกจากนี้ เพื่อให้กลไกการทบทวนสิทธิ์รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น กระทรวงการคลังได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่คลังจังหวัด ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ไปดูข้อมูลเป็นรายบุคคล เพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ผ่านรูปถ่าย 3 ภาพ ประกอบด้วย ภาพของผู้ทบทวนสิทธิ์ ภาพบัตรประชาชน ภาพร้านค้าหรือการทำงาน เป็นต้น

คาดว่าภายใน 7 วัน จะตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ทั้งหมด ซึ่งถ้าผู้ใดได้รับการคืนสิทธิ์ จะได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือน ส่วนกรณีทราบผลการพิจารณาเดือน พ.ค.63 กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินให้จำนวน 10,000 บาท หรือ 2เดือน โดยจ่ายเงินเดือน พ.ค.พร้อมกับเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาให้ด้วย

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า อาจมีคนดีใจเพราะได้รับเงิน และเสียใจเนื่องจากไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทบ้าง เพราะ รัฐบาลคงไม่สามารถช่วยเหลือทั้ง 27 ล้านรายได้ทั้งหมด สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การคัดกรองผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ให้ถูกคนถูกกลุ่ม ให้ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลมากที่สุด ซึ่งจะสามารถต่อชีวิตกลุ่มคนเหล่านี้ให้ผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดนี้ไปได้.

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ