นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.63 ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจจากประชาชนตัวอย่างทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงทุกรายการ ส่วนใหญ่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.63 อยู่ที่ 50.3 ลดจาก 64.8 ในเดือน ก.พ.63 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบัน อยู่ที่ 33.6 ลดจาก 42.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่58.2 ลดจาก 74.3
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.6 ลดจาก 52.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจมาตั้งแต่เดือน ต.ค.42 หรือต่ำสุดในรอบ 258 เดือน หรือ 21 ปี 6 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางาน อยู่ที่ 49.3 ลดจาก 61.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 59.9 ลดจาก 80.4 “ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำและรายได้อนาคต เพราะดัชนีทุกรายการลดลงมากกว่า 10 จุดภายในเดือนเดียว ไม่เคยเกิดขึ้นตลอด 21 ปี 6 เดือน”
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังกังวลกับเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจนอาจกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ขณะเดียวกัน ภัยแล้งยังซ้ำเติมภาคการเกษตร ประกอบกับราคาพืชผลหลายรายการทรงตัวในระดับต่ำ จึงบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงต่อเนื่องจนกว่าโควิด-19 จะคลายตัวลง และคาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายไปอีก 3-6 เดือน การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่น ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสถานการณ์เดียวกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ประเมินว่าครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจครึ่งแรกปี 63 อย่างน้อย 1-1.5 ล้านล้านบาท เป็นความเสียหายของภาคท่องเที่ยว 700,000 ล้านบาท ภาคการบริโภค 300,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการค้าชายแดน การส่งออก และอื่นๆ.