ธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะคลี่คลายเมื่อใดได้สร้างความไม่แน่นอนและความผันผวนให้กับตลาดการเงินเป็นอย่างมาก ซึ่งรวมถึงตลาดตราสารหนี้ของไทยที่เผชิญแรงเทขายจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตรการดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ บางขุนพรหมชวนคิด จึงขอพาท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน
ในสถานการณ์ปกติ หากตลาดการเงินอยู่ในภาวะ risk-off หรือสภาวะเสี่ยง ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดเผชิญกับความไม่แน่นอนและผันผวนสูง นักลงทุนจะย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำกว่า จึงมักเกิดการเทขายตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของภาคเอกชน เพื่อไปถือเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงและกระจายไปทั่วโลก หลายประเทศประกาศปิดประเทศ (Lockdown) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักหรือทำได้จำกัด รวมถึงสงครามราคาน้ำมันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่คาดว่าจะกดดันรายได้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันอย่างหนัก ล้วนเพิ่มความกังวลให้กับตลาดการเงินและนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดเคลื่อนไหวแบบไม่สมเหตุสมผล
สินทรัพย์เสี่ยงต่างๆถูกเทขาย ที่เห็นชัดเจนคือ ตราสารทุน ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับลดลงแรง และยังมีสิ่งที่แตกต่างจากสถานการณ์ปกติคือ สินทรัพย์ปลอดภัยทั้งพันธบัตรรัฐบาลและทองคำกลับถูกเทขายเช่นเดียวกัน สะท้อนถึงการขายอย่างตื่นตระหนกหรือ panic sell โดยสิ่งที่นักลงทุนต้องการตอนนี้
คือ ความต้องการถือเงินสดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องปรับสูงขึ้น และเห็นได้ชัดในตลาดตราสารหนี้ของไทย ที่มีแรงขายจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งจากการปรับน้ำหนักการลงทุนเมื่อราคาหุ้นตกหนัก จึงจำเป็นต้องขายตราสารหนี้เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุน ความกังวลว่าอาจไม่ได้รับทั้งเงินลงทุนและดอกเบี้ยคืน (default risk) การขายของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่ปรับอ่อนค่าลง
การเทขายตราสารหนี้ ทำให้กองทุนตราสารหนี้จำเป็นต้องขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ แม้จะเป็นตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี เพื่อนำเงินมาชำระคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนที่เทขาย จนส่งผลให้กองทุนต้องขายตราสารหนี้ในราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ หากรอให้ตราสารหนี้ครบกำหนด และท้ายที่สุดทำให้บริษัทจัดการกองทุนตราสารหนี้บางแห่งเริ่มยืดระยะเวลาได้รับเงินคืนให้ยาวขึ้น
ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลโดยเร็วอาจทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกและยิ่งพยายามเทขายหน่วยลงทุนออกมา จนอาจกระทบเป็นวงกว้างและลามไปกระทบสภาพคล่องในตลาดอื่นๆ ทั้งระบบการเงินได้ ธปท.และหน่วยงานภาครัฐจึงได้เข้ามาดูแลปัญหาดังกล่าว ผ่านมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กองทุนรวมตราสารหนี้ทุกกองทุน โดยหากกองทุนใดถูกขายหน่วยลงทุนคืนจำนวนมาก ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าไปช่วยซื้อหน่วยลงทุนและนำหน่วยลงทุนนั้นไปขายให้ ธปท.พร้อมทำสัญญาว่าจะซื้อคืนในอนาคต รวมถึง ธปท.รับซื้อพันธบัตรรัฐบาลหากกองทุนใดจำเป็นจะต้องขาย รวมถึงตั้งกองทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้บริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ทั้งจำนวน ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน “ดับไฟ” ก่อนที่ปัญหาสภาพคล่องจะลุกลามเป็นปัญหาทั้งระบบการเงินได้ค่ะ.
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **