นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องกระแสเงินสดของประชาชนและภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องเตรียมไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหรือดูแลธุรกิจให้ดำเนินต่อไป โดยมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลเช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งยังไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน หรือเอ็นพีแอล มีผลตั้งแต่งวดการชำระหนี้ วันที่ 1 เม.ย.2563 สรุปสาระสำคัญดังนี้
1.ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อหมุนเวียน (revolving Loan) ธนาคารพิจารณาปรับลดวงเงินการผ่อนชำระต่องวดลง เหลือ 5% ในปี 2563-2564 จากปกติอยู่ที่ 10% จากนั้นผ่อนชำระเพิ่มเป็น 8% ในปี 2565 และผ่อนชำระเป็นปกติที่ 10% ในปี 2566 นอกจากนี้ขณะเดียวกันลูกหนี้ยังสามารถที่จะเลือกแนวทางแปลงหนี้เป็นหนี้ระยะยาวได้ด้วย
2.ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การเลื่อนชำระเงินต้น-ดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือการลดวงเงินผ่อนชำระ 30% เป็นระยะเวลา 6 เดือน
3.ด้านสินเชื่อเช่าซื้อ ประกอบด้วยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ที่มีวงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และสินเชื่อรถทุกประเภทที่ราคาไม่เกิน 250,000 บาท ให้เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน
4.ด้านสินเชื่อ ลีสซิ่ง ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร โดยมีมูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เลื่อนหรือพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย 3 เดือน
5.ด้านสินเชื่อบ้านวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้พักชำระเงินต้น 3 เดือน
6.ด้านสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ ที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ให้พักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย 3 เดือน
นายปรีดี กล่าวอีกว่า มาตรการที่ออกมาเป็นการลดภาระ โดยที่ไม่มีผลต่อสถานะทางการเงินของลูกค้า หรือการบันทึกประวัติทางการเงิน ตามแนวทางของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร.