The Issue : ฝ่าวิกฤติไวรัสร้าย “โควิด-19”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

The Issue : ฝ่าวิกฤติไวรัสร้าย “โควิด-19”

Date Time: 24 มี.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ประเทศไทยจะอยู่ในระยะแพร่ระบาดของโรคขั้น 2 ปลายๆ

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ประเทศไทยจะอยู่ในระยะแพร่ระบาดของโรคขั้น 2 ปลายๆ ยังไม่ถึงระยะที่ 3

แต่ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ได้สั่งปิดกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-12 เม.ย.63 รวม 22 วัน ทำให้ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ตลาดนัด และตลาดสด เปิดบริการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ในขณะที่ร้านเกม ร้านสปา คลินิกเสริมความงาม เป็นต้น จำเป็นต้องหยุดให้บริการ ซึ่งทำให้ประชาชนขาดรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงชีพ

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็มีคำสั่งปิดด่านชายแดน ท่าเรือและท่าอากาศยาน 124 จุดเช่นกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงบางจังหวัดในประเทศยังมีมาตรการปิดจังหวัด เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา ที่นำร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ประชาชนคนไทยที่หาเช้ากินค่ำต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น ทั้งค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน รวมถึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่แพงขึ้นและหาซื้อได้ยากในช่วงเวลาเช่นนี้

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย เกษตรกรและแรงงาน ถูกพักงาน หรือบางรายซ้ำหนักให้ถูกออกจากงานที่ทำก็มี เพราะจากมาตรการปิดเมืองกลายๆของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้รายได้ที่มีน้อยอยู่แล้วลดลงหรือไม่มีเลย ดังนั้น จึงต้องมาดูว่า รัฐบาลจะตัดสินใจออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีหรือไม่

เพราะท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังดิ่งเหว เป็นเส้นกราฟตกเส้นท้องช้างอย่างเช่นทุกวันนี้ บรรดาสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ออกมาประเมินว่า พิษของโควิด-19 จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวติดลบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!ดังนั้น รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง จึงกำลังเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 2 ในส่วนของภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ออกมาโดยเร็วที่สุด

หลังจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุดที่ 1 เป็นการชั่วคราว ช่วง 2 เดือน (มี.ค.-เม.ย.63) ผ่านมาตรการการเงินและภาษี ซึ่งเน้นให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหลัก

โดยมาตรการชุดแรกที่ออกมาจะเน้นให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน วงเงิน 150,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในอัตรา 2% ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสนับสนุนมาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อลดภาระของประชาชนด้วย โดยรัฐบาลคาดหวังว่า มาตรการชุดแรกจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยถึง 400,000 ล้านบาท

แต่ปัจจุบันหลายมาตรการต่างๆที่ผ่าน ครม.ไปเพิ่งอยู่ในช่วงแรกของการดำเนินงานเท่านั้น ทำให้ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า มาตรการที่ออกมานั้นจะสามารถช่วยผู้ประกอบการในช่วง 2 เดือนตามเป้าที่วางไว้มากน้อยเพียงใด

ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดกั้นโควิด-19 ของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นมาตรการชุดใหม่ที่รัฐบาลจะออกมาต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัวให้ผ่านพ้นวิกฤติจากโควิด-19 ไปได้

โดยในต่างประเทศนั้นมีการมอบเงินช่วยเหลือให้ประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤติ เช่น ฮ่องกง ออกมาตรการลดผลกระทบด้วยการแจกเงินให้ประชาชน 100-3,000 เหรียญ หรือประมาณ 3,000-7,000 บาท ขณะที่สหรัฐฯมีมาตรการแจกเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบคนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 32,000 บาท เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยนั้น แม้จะเป็นเพียงความคิดของกระทรวงการคลัง ที่จะแจกเงินคนละ 1,000 บาท รวมระยะเวลา 2 เดือน (2,000 บาท) แต่ก็ถูกโจมตีอย่างหนัก จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องชะลอเรื่องนี้ออกไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ ระบาดของโควิด-19 ทุกวันนี้ นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ประเทศ ไทยก้าวเข้าสู่การแพร่ระบาดของโรคระยะที่ 3 ดังนั้น หากรัฐบาลจะใช้วิธีการแจกเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเช่นประเทศอื่น จำนวนเงินเพียงแค่ 2,000บาท คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน

รัฐบาลต้องใจป้ํากล้าตัดสินใจ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ เลิกใจปลาซิว แล้วมองความจริงที่เกิดขึ้นว่า โควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สังคมไทยและชีวิตของคนไทยมากน้อยเพียงใด เพราะคนรวยหากมีเงินอยู่ในกระเป๋า 100 ล้านบาท พิษโควิดทำให้รายได้หายไป 50% คนรวยก็ยังมีเงินเหลืออีก 50 ล้านบาท

แต่ในทางกลับกัน หากประชาชนที่มีรายได้น้อยมีเงินติดกระเป๋าอยู่ 1,000 บาท แต่รายได้หายไป 50% ก็จะเหลือเงินเพียงแค่ 500 บาทเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้คือความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลไม่เคยมองเห็น!

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ