นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยว่า “ปัจจุบันมีกระแสการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของโลกที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น” รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญถึงศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องดิจิทัลถือเป็นสมรรถนะหลักใหม่ในการสร้างความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และเริ่มมีการประเมินความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ในระดับนานาชาติ โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD
“ล่าสุดเมื่อปี 2562 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 25 ของโลกจาก 63 ประเทศ ซึ่งมีอันดับดีขึ้นจากผลการจัดอันดับในปี 2561 ถึง 5 อันดับ โดยเป็นอันดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน”
สำหรับปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องดิจิทัลโดยตรง อยู่ในอันดับที่ 38 จาก 63 ประเทศ ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ตัวชี้วัดที่โดดเด่นที่แสดงถึงการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ คือ จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 4 ของโลก จาก 63 ประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความครอบคลุมของสัญญาณและความเท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เช่น การสืบค้นข้อมูล การทำธุรกรรม การทำธุรกิจ e-commerce ต่างๆ นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา สถาบัน IMD ได้ประกาศผลการจัดอันดับ World Digital Competitiveness Ranking ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดยตรง พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ที่อันดับที่ 40 จาก 63 ประเทศ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2561 มากนัก โดยตัวชี้วัดที่น่าสนใจ คือประเทศไทยมีการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech exports (%)) เป็นอันดับ 9 ของโลก และมีการสัดส่วนร้อยละของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่อยู่ในไทย (World robots distribution) เป็นอันดับ 10 ของโลก
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากผลการจัดอันดับ ประเทศไทยยังสามารถพัฒนาอันดับความสามารถในการแข่งขันในด้านดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง “โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลของประเทศ ได้มีแผนงานความร่วมมือกับ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ในปี 2563 โดยจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศในระยะยาว อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ”