สถานภาพการบินไทยง่อนแง่นสุดขีด หลังตกอยู่ในภาวะหยุดบิน 50% ไม่มีรายได้เข้า พนักงานอาจต้องอยู่บ้าน และไม่รับเงินเดือน หรือทำงานที่บ้านแทน ขณะเดียวกันต้องยอมรับการประกาศพักชำระหนี้ ลดเงินเดือน ใช้โมเดลการฟื้นฟูกิจการของ JAL และท้ายที่สุดเข้าสู่ภาวะการล้มละลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ซึ่งจะมีผลในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติจากการปรับลดเที่ยวบินลงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่สะดุดหยุดชะงัก
คณะกรรมการ บมจ.การบินไทยจึงแต่งตั้งให้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นใหญ่รักษาการแทน และให้บรรดากรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหน่วยราชการต่างๆเข้าร่วมหารือกันในประเด็นการฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทยอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ข้อสรุปจากการประชุมในเบื้องต้นก็คือ ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในกรณีของการขาดสภาพคล่องจากการต้องหยุดดำเนินการบิน โดยปัจจุบันการบินไทยหยุดเที่ยวบินไปยังประเทศต่างๆแล้ว 50% รายได้ยอดขายที่เคยได้เดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ก็หายไปในสัดส่วนเดียวกันด้วย
ทำให้มีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องจากรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อสายการบินต่างๆพากันประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจจะอยู่ต่อเนื่องยาวไปจนถึงเดือนที่ 9 หรือเดือน ก.ย. ทำให้บอร์ดและผู้บริหารต้องเตรียมการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกในระยะข้างหน้า
สำหรับพนักงานของบริษัทที่มีจำนวนรวม 35,000 คน ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายสุดๆ ฝ่ายบริหารและบอร์ดจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับพนักงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานการบินไทย เพื่อปรับลดเงินเดือนและค่าเบี้ยเลี้ยงรายวัน (perdiem) และอื่นๆ หลังจากที่ ฝ่ายบริหารและบอร์ดปรับลดเงินเดือน และค่าเบี้ยประชุม รวมถึงสวัสดิการอื่นๆลง 50% ไปแล้ว
“เรายังต้องสั่งเปลี่ยนหมอน ผ้าห่ม รวมถึงหูฟังที่ใช้ครั้งเดียวบนเครื่องบินด้วย” ฝ่ายบริหารแจกแจง และว่าในเวลาเดียวกัน ก็ต้องขอให้พนักงานที่ไม่ได้ทำการบิน ใช้เวลาที่มีการลาพักร้อนไป ส่วนกรณีที่หากมีการต้องยกเลิกเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีก ก็อาจจะต้องขอให้พนักงานทำงานอยู่บ้านโดยที่บริษัทขอไม่จ่ายเงิน (leave without pay) เนื่องเพราะเกือบจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุมเพื่อ หาข้อยุติเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และการแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ที่ประชุมเห็นด้วยว่าที่สุด การบินไทยจำเป็นต้องใช้โมเดลการแก้ไขปัญหาแบบเดียวกันกับสายการบิน JAL ของญี่ปุ่น ซึ่งมีหลายสายการบินนำไปใช้ในการแก้ไขฐานะการดำเนินกิจการของตนด้วย
ในเวลาเดียวกันก็จำเป็นจะต้องขออนุมัติจากรัฐบาล และกระทรวงการคลังในการทำ Moratorium คือ ประกาศการพักชำระหนี้ หรือเลื่อนการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน และธนาคารเจ้าหนี้ออกไปก่อน ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหมดถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของการบินไทยที่มีอยู่ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เท่ากับซื้อเวลาของการแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆโดยมีผลการขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีๆ
สำหรับผู้ที่เกรงว่า บรรดาผู้ถือหุ้นการบินไทย อาจจะไม่ยอม ก็จะต้องมีมาตรการบางอย่างตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นไว้จนกว่าการบินไทยจะกลับมาฟื้นตัว และมีสถานภาพที่ดีขึ้น ส่วนที่มีผู้ให้ความเห็นว่า สหภาพแรงงานของการบินไทย ซึ่งมีท่าทีที่แรงมาตลอด จะแก้ปัญหาอย่างไรหากสหภาพแรงงานการบินไทยไม่ยินยอม
ผู้สื่อข่าวได้รับคำตอบจากกระทรวงการคลังว่า เป็นไปได้มากที่จะต้องประกาศให้การบินไทยเข้าสู่สภาวะการฟื้นฟูกิจการเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับการประกาศเข้า Chapter 11 หรือ กฎหมายเกี่ยวกับการล้มละลายของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆดำเนินการกับกิจการที่ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการมากมาย รวมถึงการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินบางอย่างที่มีราคาออกไป หรือแบ่งเป็นทรัพย์สินดี และทรัพย์สินด้อยคุณภาพที่จะต้องมีการจัดการ.