พาณิชย์ถกผู้ผลิตรับมือคนแห่ตุนสินค้า ยันของอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

พาณิชย์ถกผู้ผลิตรับมือคนแห่ตุนสินค้า ยันของอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลน

Date Time: 9 มี.ค. 2563 08:20 น.

Summary

  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อรับมือในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อรับมือในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า การหารือครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงนี้

รวมถึงเตรียมการรองรับมาตรการอื่นๆของรัฐบาล ที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. วันที่ 10 มี.ค.นี้ ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น “ครั้งนี้ได้หารือกับผู้ผลิตข้าวถุง เจลล้างมือ อาหารสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ เช่น สบู่เหลว กระดาษทิชชู เป็นต้น เพื่อให้แต่ละกลุ่มรายงานสถานการณ์ ทำให้เห็นภาพรวม ว่าอาหารสำเร็จรูปมีแนวโน้มยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น และกำลังการผลิตปัจจุบันยังอยู่ที่ 70% ยังเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 30% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด และจะประสานงานกับ ผู้ผลิต ผู้ค้า สมาคมต่างๆตลอดเวลา โดยกรมการค้าภายในจะเป็นหน่วยงานหลัก”

นายระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตข้าวถุงยังคงผลิตสินค้าป้อนให้กับตลาดได้ต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าข้าวสารจะไม่ขาด ขณะที่นางณัฏฐินี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสส่วนองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์บริษัทยูนิลิเวอร์ กล่าวว่า อยากให้ประชาชน มั่นใจว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีเพียงพอแน่นอน ส่วนสินค้าที่จำเป็นสำหรับการฆ่าเชื้อ เช่น สบู่เหลว บริษัทเตรียมขยายการผลิตแล้ว ขณะที่ผลิตภัณฑ์ เจลล้างมือขนาดเล็กที่พกพาไปใช้ได้นั้น บริษัทพร้อมหาบรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบมาผลิตเพิ่ม ขอให้มั่นใจ ส่วนสบู่เหลวก็ได้ขยายกำลังผลิตแล้ว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีสารต่อต้านแบคทีเรียที่ผลิตเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.63 เป็นต้นไป ที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องการกำหนดราคาขายปลีกสูงสุดหน้ากากอนามัยชิ้นละ 2.50 บาทนั้น กรมได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจ 10 สาย ออกตรวจสอบการจำหน่ายของผู้ค้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัด เป็นหน้าที่ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายตามราคาที่กำหนดหรือไม่ หากพบว่า จำหน่ายเกินราคา จะจับกุมและส่งดำเนินคดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับทันที “ขอเตือนร้านค้า ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือผู้ที่จำหน่ายทางออนไลน์ ให้จำหน่ายหน้ากากอนามัยไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท ถ้าไม่ทำตามจะมีความผิดและถูกจับกุมดำเนินคดีทุกราย ส่วนเฉพาะทางออนไลน์ หากขายผ่านเฟซบุ๊กจะประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาช่วยตามตัว และที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์, อี-มาร์เกตเพลสต่างๆ ไม่เพียงแต่เล่นงานคนขาย แต่จะดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มและอี-มาร์เกตเพลสด้วย ที่ปล่อยให้ขายเกินราคามีโทษเท่ากัน ถือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด”

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ดำเนินคดีผู้ค้าขายหน้ากากเกินราคาไปแล้ว 89 ราย ทั้งข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาและทำให้ราคาสินค้าปั่นป่วน ส่วนราคาขาย ปลีกสูงสุดหน้ากากอนามัยชิ้นละ 2.50 บาท ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ขอฝากผู้ค้าว่า อาจมีความผิดเพิ่มอีก 1 ข้อหา คือ ขายแพงกว่าราคาควบคุม โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น หากขายเกินราคาควบคุม จะมีความผิด 2 กระทง ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด โดยกระทรวงได้จับกุมผู้ค้าออนไลน์ไปแล้ว 13 ราย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ