หนี้สินครัวเรือน-ภัยแล้ง-โควิดซัดอดอยากปากแห้ง
สศช.ชี้ปัจจัยลบปีนี้ ทำให้ต้องจับตาแนวโน้มสังคมไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจีดีพีขยายตัวลดลง ทำให้สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 79.1% ใกล้แตะ 80% ขณะที่การส่งออกและค่าเงินบาทภัยแล้ง น้ำท่วม พีเอ็ม 2.5 และไวรัสโควิด–19 ทำให้แรงงานและสังคมไทยได้รับผลกระทบ
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2562 ว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวปีที่แล้ว ทำให้มีอัตราขยายตัวเพียง 2.4% ส่งผลกระทบต่อสภาพของสังคมไทย โดยหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ของปี 62 มีมูลค่า 13.24 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.5% ชะลอตัวลงจาก 5.8% ในไตรมาสที่ 2 แต่อัตราการชะลอของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) อยู่ที่ 79.1% สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน โดยไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว หนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.7%
“หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นยังไม่ถึงขั้นวิกฤติที่ระดับ 80% ของจีดีพี เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ได้เกิดจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้นใหม่ โดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 3 ขยายตัว 5% ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว 5.6% เช่นเดียวกับสินเชื่อยานยนต์ขยายตัว 10.1% ชะลอจาก 11.1% สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจขยายตัว 2% ชะลอจาก 2.3% สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ส่วนบุคคลไตรมาส 3 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.2% ดีกว่าไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 7% เนื่องจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมากขึ้น ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 16.7% จาก 133,300 ล้านบาท มาอยู่ที่ 140,573 ล้านบาท”
นอกจากนี้ ทางด้านการจ้างงานปี 2562 ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากหลายประเด็น เช่น การส่งออกที่ลดลง ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น โดยภาพรวมการจ้างงานลดลง 0.7% ส่งผลให้การจ้างงานในภาคการผลิตลดลง 2.1% การจ้างงานภาคเกษตรลดลง 2.9% เนื่องจากภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมตั้งแต่ต้นปี 2562 ส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 370,000 คน ซึ่งเป็นอัตราคงที่เนื่องจากแรงงานไทยมี 2 ด้านคือ 1.แรงงานในภาคอุตสาหกรรม และ 2.แรงงานในภาคการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจนทำให้โรงงานต้องปิดกิจการ จะมีแรงงานส่วนหนึ่งที่หันไปทำภาคการเกษตร ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับ 1% มาโดยตลอด
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นของตลาดแรงงานปีที่แล้วจะเป็นเรื่องของแรงงานภาคเอกชนที่มีชั่วโมงในการทำงานล่วงเวลาลด มีการใช้มาตรา 75 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานเพิ่มขึ้น โดยนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวแต่ยังจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตรา 70% ของค่าแรงที่เคยได้รับ จำนวน 260 แห่ง ครอบคลุมแรงงาน 150,385 คน นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการปิดกิจการอีก 1,107 แห่ง เพิ่มขึ้น 67.55% กระทบต่อลูกจ้าง 7,703 คน หรือเพิ่มขึ้น 37.09%”
แต่ในปี 2563 สถานการณ์ด้านแรงงานยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม 4 เรื่องหลักคือ 1.กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ภัยแล้งปีนี้จะรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ยากจน โดยประเทศไทยมีเกษตรกรที่ยากจนถึง 63.4% จากจำนวนเกษตรกร 30 ล้านคน และมีเกษตรกรที่เกือบจนอีก 1.64 ล้านคน ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น
2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยว 3.แนว โน้มการส่งออกและการผันผวนของค่าเงินบาท และ 4.ความล่าช้าของบประมาณรายจ่ายปี 2563
“นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์ของจีนที่เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ชี้ว่า ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 กับไวรัสเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกัน เนื่องจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุตา ปาก ทางเดินหายใจ เมื่อเกิดการอักเสบแล้ว ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องการลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างจริงจัง”.