ประสิทธิภาพการผลิตไทยต่ำเตี้ย “วิรไท” ชี้ “มาเลเซีย” คู่แข่งแซงหน้าไปหลายขุม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ประสิทธิภาพการผลิตไทยต่ำเตี้ย “วิรไท” ชี้ “มาเลเซีย” คู่แข่งแซงหน้าไปหลายขุม

Date Time: 20 ก.พ. 2563 08:01 น.

Summary

  • “วิรไท” เผยประสิทธิภาพการผลิตของไทยต่ำเตี้ย โดนคู่แข่ง “มาเลเซีย” ทิ้งไม่ติดฝุ่น ขณะที่รุ่นน้องอย่างอินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม แซงหน้า แจง 5 ปัญหา ทำไทยย่ำอยู่กับที่

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%



“วิรไท” เผยประสิทธิภาพการผลิตของไทยต่ำเตี้ย โดนคู่แข่ง “มาเลเซีย” ทิ้งไม่ติดฝุ่น ขณะที่รุ่นน้องอย่างอินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม แซงหน้า แจง 5 ปัญหา ทำไทยย่ำอยู่กับที่ ชี้นโยบายช่วยเหลือแบบให้เปล่าซ้ำเติมภาคผลิตไทยให้ตกต่ำ แนะแก้กฎเกณฑ์ไดโนเสาร์ ลดการคอร์รัปชัน เชื่อว่าช่วยชีวิตเศรษฐกิจไทยได้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ หัวข้อเรื่อง “Productivity หัวใจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย” ว่า ประสิทธิภาพการผลิต หรือผลิตภาพ (productivity) เป็นตัวกำหนดศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดย ไม่ได้สำคัญเฉพาะศักยภาพการเติบโตของระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของทุกคนด้วย

“พูดง่ายๆ หากทำงานได้ดีขึ้น เก่งขึ้น โดยใช้ทรัพยากรในปริมาณเท่าเดิม จะช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาวทำได้ดีขึ้น”

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านการผลิตในหลายด้าน คือ 1.ประสิทธิภาพการผลิต โดยรวมของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ประเทศอื่นๆไปเร็วมาก เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประสิทธิภาพการผลิตของไทยใกล้เคียงกับมาเลเซีย และสูงกว่าอินเดียราว 40% แต่ปัจจุบันประสิทธิภาพการผลิตของมาเลเซียเพิ่มสูงกว่าไทย 30% ขณะที่อินเดียเท่ากับผลิตภาพของไทย

2.แรงงานมากถึง 1 ใน 3 ของไทย อยู่ในภาคการเกษตรกรรม ซึ่งประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินโดนีเซีย อินเดีย หรือเวียดนาม ขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่านั้นทำได้ยาก เนื่องจากขาดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเปลี่ยนงาน หากเป็นแบบนี้ต่อไป ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนจะรุนแรงขึ้น สร้างจุดเปราะบางสู่ปัญหาทางสังคมได้

3.ช่องว่างประสิทธิภาพการผลิตระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กว้างขึ้น โดยสัดส่วนประสิทธิภาพของแรงงานในธุรกิจขนาดใหญ่สุด 10% ของทั้งหมด เทียบกับธุรกิจขนาดเล็กสุด 10% แตกต่างกันเพิ่มขึ้นจาก 3.1 เท่าในปี 2539 เป็น 7.7 เท่าในปี 2554 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กรุนแรงขึ้น และเมื่อเอสเอ็มอีแข่งขันไม่ได้ค่าจ้างแรงงานก็จะถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ

4.ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับของทางการที่ซ้ำซ้อนหรือล้าสมัย และเป็นอุปสรรคในการเพิ่มผลผลิตของประเทศ และ 5.นโยบายรัฐหลายเรื่องที่สะสมต่อเนื่องมาจากอดีตไม่เอื้อต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีอำนาจผูกขาดไม่มีแรงจูงใจพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ทำธุรกิจแบบเดิมๆที่ได้กำไรอยู่แล้ว

“นโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อยๆของภาครัฐ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ระบุในงานวิจัยว่านโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไทยส่วนมากเป็นการช่วยเหลือระยะสั้นและช่วยซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและการบริหารความเสี่ยงให้ดีขึ้น เช่น นโยบายรับจำนำข้าวแบบไม่จำกัดปริมาณ ส่งผลให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตสูง เพื่อนำไปจำนำแทนการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ”

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ในอดีตประเทศไทยมองสิงคโปร์ จีน มาเลเซียเป็นคู่แข่งสำคัญ แต่วันนี้สิงคโปร์พัฒนาก้าวไปไกลแล้ว แม้แต่เวียดนามก็มีพัฒนาการที่เร็วกว่า แต่ประเทศไทยขาดการพัฒนาอย่างจริงจัง ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ

ขณะที่แนวทางในการแก้ปัญหานั้น สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการ คือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จะต้องทำอย่างทั่วถึง เน้นผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานทักษะต่ำที่ขาดโอกาส และควรทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจน 2.การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ 3.ภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรค ส่งเสริมการทำงานของระบบตลาด ส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม 4.การสร้างระบบแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจและประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 5.การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เพิ่มต้นทุนที่ไม่จำเป็น ลดปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การทำสิ่งเหล่านี้ในหลายประเทศทั่วโลกทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของประเทศเหล่านั้นเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างรวดเร็ว

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการระยะสั้น เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือสถานการณ์โรคติดต่อ ซึ่งต้องแยกความจำเป็นที่ต้องเยียวยาระยะสั้นออกจากยุทธ– ศาสตร์ที่ต้องส่งเสริมต่อเนื่องในระยะยาว มิเช่นนั้นแล้วธุรกิจหรือคนที่ได้รับเงินอุดหนุนจะใช้ชีวิตแบบเดิม ทำแบบเดิม ปัญหาผลิตภาพต่ำจะไม่ได้รับการแก้ไข”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ