5 ค่ายมือถือ มาตามนัดยื่นประมูล 5 จี กับ กสทช.ตามนัด ย้ำไทย ต้องเปิดให้บริการก่อนโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะได้เงินการประมูลมากกว่า 50,000 ล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนในระบบอีกมาก
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม เข้ายื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูล 5 จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 56 ใบอนุญาต ในวันที่ 16 ก.พ.นี้ ผลปรากฏว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 5 รายได้มายื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูล 5 จีอย่างพร้อมเพรียง ตามลำดับเวลาดังนี้
บริษัท ทรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด มายื่นเอกสารเป็นรายแรกเวลา 11.00 น.ตามด้วยบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ครั้งแรกของการเข้าร่วมประมูลเวลา 11.09 น. ถัดมาเป็นบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เวลา 12.59 น. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นครั้งแรกของการเข้าประมูลเช่นกัน มายื่นเอกสาร เวลา 15.15 น. และสุดท้ายบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด เอดับบลิวเอ็น ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เวลา 15.35 น.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากยื่นคำขอรับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 4 ก.พ.นี้แล้ว สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการพิจารณาคุณสมบัติ และจะมีการชี้แจงรายละเอียดและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) ในวันที่ 10 ก.พ.และ 14 ก.พ. 2563 และจะจัดการประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 โดยในระหว่างนี้อยู่ในช่วงไซเรนท์พีเรียด (Silent period) ห้ามให้ข้อมูลที่มีผลต่อการประมูล 5 จี และจากท่าทีการมายื่นเอกสารครั้งนี้ มั่นใจว่ามูลค่าการประมูลครั้งนี้จะเกิน 70,000 ล้านบาท รวมใบอนุญาตที่ประมูลได้ 27 ใบอนุญาต จากทั้งหมด 56 ใบอนุญาต
“ผมมั่นใจว่า ประเทศไทย จะต้องเปิดให้บริการ 5 จี ก่อนประเทศในเอเชีย และก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย เพราะขณะนี้ได้เปิดให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลยื่นขออนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ 5 จี เพื่อเตรียความพร้อมในการติดตั้ง เมื่อประมูลเสร็จ มาชำระเงินงวดแรก กสทช.จะออกใบอนุญาตให้ได้ไม่เกิน 19 ก.พ.นี้ และหลังจากนั้นผู้ประกอบการก็สามารถนำเข้าอุปกรณ์มาติดตั้งได้ทันที เพื่อเปิดบริการได้เร็วสุด เม.ย. ช้าสุด พ.ค.-มิ.ย.2563”
สำหรับการประมูลครั้งนี้ จะเร่ิมจากการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ก่อน ซึ่งนำมาประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.60 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
ขณะที่คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี
ส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในสมาร์ทซิตี้ ภายใน 4 ปี
และคลื่น 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 กิกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปี หลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต