นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยรายได้ของเกษตรกรในปี 62 ว่า มีรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตร 269,449 บาท/ครัวเรือน/ปี แบ่งเป็น รายได้เงินสดสุทธิเกษตร 78,604 บาท คิดเป็นสัดส่วน 30% และรายได้เงินสดนอกเกษตร 190,845 บาท สัดส่วน 70% ซึ่งภาพรวมรายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนในปี 62 สูงขึ้น 9.02% จากปี 61 ซึ่งมีรายได้ 247,150 บาท/ครัวเรือน/ปี
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรอยู่ที่ 221,490 บาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีหนี้สิน 150,636 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 47% โดยหนี้สินปี 62 สัดส่วนมากถึง 55.44% กู้มาเพื่อทำการเกษตร และอีก 44.56% เป็นหนี้นอกภาคเกษตร จากปี 61 ที่สัดส่วนหนี้ภาคการเกษตรอยู่ที่ 56.90% และอีก 43.10% เป็นหนี้นอกภาคเกษตร
“หนี้สินนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้สินนอกภาคเกษตรที่กู้มาเพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้นเพื่อใช้สำหรับการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของเกษตรกร โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการบริโภคที่ 182,034 บาท/ครัวเรือน/ปีแล้ว พบว่า ครัวเรือนเกษตรจะยังมีเงินสดคงเหลือ 87,414 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือเพิ่มขึ้น 21% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ยังมีความสามารถในการชำระคืนหนี้สินอยู่”
สำหรับปี 63 สศก. คาดว่า สภาวการณ์และปัจจัยต่างๆอาจส่งผลกระทบและท้าทายต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยในหลายประเด็น ซึ่งภาครัฐมีมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับรายได้ของเกษตรกรให้เพียงพอ เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรใน 5 สินค้าหลัก ซึ่งครอบคลุมครัวเรือนเกษตรกรกว่า 6.8 ล้านครัวเรือน, การสนับสนุนใช้พลังงานทดแทนที่มีสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ นอกจากนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งแผนขับเคลื่อนภาคการเกษตรปี 63 ซึ่งทุกหน่วยงานได้เดินหน้าขับเคลื่อนแล้ว เช่น การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง, การส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง และถั่วเขียว, การปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจ้างงานในช่วงฤดูแล้ง 41,000 อัตรา และการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 40,000 บ่อ สำหรับเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนต่อไป.