โครงการ Young Technopreneur 2019 สร้าง “คนคุณภาพ” สู่ Tech Startup

Economics

Thailand Econ

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

โครงการ Young Technopreneur 2019 สร้าง “คนคุณภาพ” สู่ Tech Startup

Date Time: 11 ธ.ค. 2562 06:01 น.
Content Partnership

Summary

  • สำหรับโครงการ Young Technopreneur 2019 ในปีนี้ ยังคงมุ่ง "สร้างบุคลากรคุณภาพ ความเป็นมืออาชีพ ส่งเสริมธุรกิจที่ชัดเจนให้เป็นจริง" ทั้งการร่วมพัฒนาทักษะความรู้ ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง

การจัดโครงการ Young Technopreneur รุ่นที่ 8 ประจำปี 2562 โดยบริษัท สามารถคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “กลุ่มบริษัทสามารถ” ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสร้างสรรค์เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นเป็น “เจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยี” (Tech Startup) เป็นการต่อยอดแนวคิดเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์ ที่สามารถทำเป็นธุรกิจ และสร้างสรรค์รายได้ให้เกิดขึ้นได้จริง

สำหรับโครงการ Young Technopreneur 2019 ในปีนี้ ยังคงมุ่ง "สร้างบุคลากรคุณภาพ ความเป็นมืออาชีพ ส่งเสริมธุรกิจที่ชัดเจนให้เป็นจริง" ทั้งการร่วมพัฒนาทักษะความรู้ ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ในสถาบันการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยีให้กับสตาร์ทอัพที่เป็นเยาวชนในรั้วมหาวิทยาลัย

ผ่านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการให้ความรู้ในเชิงธุรกิจอย่างครบเครื่องของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการสร้างเสริมผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ทั้งด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี พร้อมสร้างพื้นฐานในเชิงธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริม และเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาด และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อเกิดธุรกิจได้จริงในท้ายที่สุด

คุณวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มบริษัทสามารถอยู่กับเทคโนโลยีมาโดยตลอด มีการทำในเรื่องเกี่ยวกับ Creativity และ Innovation ใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำโครงการนี้ขึ้นมา และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มโครงการ Samart Innovation Award เพื่อสนับสนุนความสามารถของคนไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2003 มาถึง เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ปัจจุบันคือ โครงการ Young Technopreneur และยังสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีไอเดียในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในโลกปัจจุบันที่กำลังถูก Disrupt และมีการแข่งขันที่สูงมาก

“ประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของ Startup และการสร้าง Tech Startup มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโครงการนี้เราอยากทำให้เกิดการต่อยอดไปถึงการสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถนำเสนอออกสู่สาธารณชน หรือทำในเชิงพาณิชย์ได้จริง คงไม่ใช่แค่ให้ได้ผลงานมาเพื่อโชว์ หรือเด็กๆ ได้รับเงินรางวัลแล้วก็จบไป แต่เราอยากทำให้เกิดการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจริงๆ โดยมีความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สวทช. คณะอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงบริษัทสามารถคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กๆ สามารถเติบโตขึ้นเป็น Tech Startup ได้จริงๆ”

สำหรับโครงการ Young Technopreneur 2019 มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 53 โครงการ จากผู้สมัครกว่า 100 โครงการ โดยในช่วงแรกทางโครงการได้มีการจัดอบรมความรู้พื้นฐานในการประกอบธุรกิจ ฝึกการนำเสนอผลงาน ตลอดจนการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป “Idea to Market” ที่เป็นไฮไลต์ของโครงการในช่วงที่ 1 เพื่อให้ผู้ส่งผลงานที่ผ่านเข้ารอบนี้ ได้นำความรู้ที่ได้มาเขียนแผน Business Model Canvas เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการประเมิน และคัดเลือกแผนธุรกิจที่มีความเป็นไปได้เพียง 12 ผลงาน พร้อมรับทุนเริ่มต้นธุรกิจมูลค่าทุนละ 30,000 บาท

โดยการนำเทคโนโลยี Robo Tech, IoT, AI, Deep Tech และอื่นๆ มาสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4 กลุ่มหลัก ที่บทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ ได้แก่

• อุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร (Food & Agriculture)

• อุตสาหกรรมการแพทย์ และบริการเพื่อผู้สูงอายุ (Medical & Aging Society)

• อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการ (Tourism & Services)

• อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation & Logistics)

ล่าสุด ได้มีการประกาศผล พร้อมมอบรางวัลให้กับผู้ชนะไปแล้ว โดยทีมที่ชนะเลิศ (สุดยอดนักคิด นักพัฒนาต้นแบบ) จะได้รับรางวัลสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ Samart Innovation Award (SIA) พร้อมรับเงินรางวัลรวม 200,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 80,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินมูลค่า 50,000 บาท

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน ไฮโดรเจล-ติดทน-เส้นขนสัตว์ นวัตกรรมซีรั่มเพื่อสัตว์เลี้ยงที่มีคุณสมบัติพิเศษ ใช้แทนการอาบน้ำสัตว์หลังผ่าตัด หรือฉีดวัคซีน โดยไฮโดรเจล คือ วัสดุที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำจากโพลีเมอร์ที่มีโครงร่างตาข่าย ปัจจุบันผลงานดังกล่าวได้ทำการผลิต และจำหน่ายแล้ว ไฮโดรเจลยังเป็นนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดไปได้อีกหลากหลายอุตสาหกรรม และยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนได้อีกด้วย

รางวัลที่ 2 ได้แก่ ผลงาน I-Lock ระบบควบคุมรถที่เป็นเสมือนกล่องสมองกล ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน สามารถในการควบคุมระบบไฟฟ้าของรถยนต์ เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบไฟส่องสว่าง กระจกไฟฟ้า ระบบล็อกประตูรถ สามารถควบคุมรถได้จากระยะไกล รวมถึงระบบรายงานสถานะต่างๆ ของรถ เช่น ระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ระยะทางที่รถวิ่ง อุณหภูมิเครื่องยนต์ อุณหภูมิห้องโดยสาร ตำแหน่งของรถ ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ ปัจจุบันมีการติดตั้งระบบ I-Lock ให้กับเต็นท์รถยนต์มือสองไปแล้วว่า 100 คัน

รางวัลที่ 3 ได้แก่ ผลงาน Alto Tech Smart Hotel แพลตฟอร์มของระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะภายในโรงแรมด้วยระบบ AI และ IoT ที่สามารถสั่งการได้แบบอัตโนมัติ ทำให้การใช้งานไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายด้านการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 30% สามารถนำไปปรับใช้กับในหลายอุตสาหกรรมได้ ล่าสุดได้มีการใช้งานจริงแล้วที่โรงแรมในเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

คุณวัฒน์ชัย กล่าวเสริมว่า ปีนี้ผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการมีความน่าสนใจมาก เนื่องจากมีการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ทั้งในส่วนของนวัตกรรม และแผนธุรกิจที่ชัดเจนมีความไปได้ทางธุรกิจมากขึ้น โดยคณะกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมกันพิจารณาตัดสินอย่างเข้มข้น จนได้ทีมผู้ชนะเลิศสำหรับรางวัลสุดยอดความคิดสร้างสรรค์ Samart Innovation Award (SIA) ประจำปีนี้

“ตลอดระยะเวลา 17 ปี กลุ่มบริษัทสามารถ มุ่งสนับสนุนให้เกิดการสร้าง “คนคุณภาพ” ด้วยการสนับสนุนและสร้างโอกาสด้านความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยีและการสร้างอาชีพ ผ่านโครงการ SAMART Innovation Award (SIA) ทำให้ได้เห็นพัฒนาการ และไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่กว่า 7,000 คน ผ่านโครงการนี้

ส่วนการจัดโครงการ Young Technopreneur เราทำร่วมกับ สวทช. มาเป็นเวลาถึง 8 ปี เพื่อมุ่งสนับสนุนให้เกิดเจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยี โดยเด็กที่ได้เข้าร่วมโครงการยังให้ประโยชน์มากมาย ทั้งสร้างโอกาสในการเก็บเกี่ยวความรู้จากคอร์สฝึกอบรมต่างๆ และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากนักธุรกิจตัวจริงได้ จากการเข้าร่วมกิจกรรม Pitching”

อย่างไรก็ตาม จากระยะเวลาการจัดทำโครงการ Young Technopreneur ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้มีผลงานของเยาวชนที่ส่งเข้าร่วมโครงการรวมแล้วกว่า 860 ผลงาน ในจำนวนนี้ได้ก้าวไปสู่การเป็น Tech Startup แล้วถึง 60 บริษัท

จากความสำเร็จดังกล่าว สะท้อนภาพการดำเนินโครงการที่สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันยังมองเห็นภาพพัฒนาการของเยาวชนไทย ที่มีความสามารถในเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญที่สุด จึงไม่ใช่แค่เรื่องของชัยชนะ และการได้รับเงินรางวัล เพราะสิ่งที่มีมูลค่ามากกว่า คือ การเสริมสร้างประสบการณ์ และการได้รับโอกาสในการได้รับคำแนะนำที่ดีๆ จากอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงคณะกรรมการในการตัดสิน และนั่นคือสิ่งที่จะส่งผลให้เกิดก้าวต่อไปได้อย่างมีนัยสำคัญ


Author

Content Partnership

Content Partnership