เร่งบุคคล-นิติบุคคล เข้าระบบภาษี กรมสรรพากรพุ่งเป้า 3 ล้านคน-2 แสนบริษัท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เร่งบุคคล-นิติบุคคล เข้าระบบภาษี กรมสรรพากรพุ่งเป้า 3 ล้านคน-2 แสนบริษัท

Date Time: 6 ธ.ค. 2562 07:40 น.

Summary

  • กรมสรรพากรเร่งให้บุคคลธรรมดา 3 ล้านคน และนิติบุคคลอีก 200,000 ราย เข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง ก่อนโดนตรวจสอบเข้มหลังกรมเชื่อมข้อมูลภายในและภายนอกเสร็จ ด้านกระบวน การเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

กรมสรรพากรเร่งให้บุคคลธรรมดา 3 ล้านคน และนิติบุคคลอีก 200,000 ราย เข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง ก่อนโดนตรวจสอบเข้มหลังกรมเชื่อมข้อมูลภายในและภายนอกเสร็จ ด้านกระบวน การเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ต่างชาติยังไม่เสร็จ รอกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างกฎหมาย เผยตลอดปีงบประมาณ 2562 เก็บภาษีได้เกินเป้า 9,140 ล้านบาท

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรพยายามขยาย ฐานภาษี เพื่อนำคนเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้องให้มากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาจำนวนคนที่อยู่ในฐาน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 10 ล้านคน ส่วนในปี 2562 จำนวนคนที่อยู่ในฐานภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา เพิ่มขึ้นอีก 1.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว 10%

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีบุคคลธรรมดาที่อยู่นอกฐานภาษีอีกราว 3 ล้านคน ซึ่งกรม สรรพากรวางแผนจะนำผู้ที่อยู่นอกฐานภาษีทั้ง 3 ล้านคนเข้าสู่ระบบทั้งหมด โดยวาง เป้าหมายให้เข้าสู่ฐานภาษีปีละ 1 ล้านคน

ส่วนฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล ในปัจจุบันมีนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ราว 600,000 ราย แต่ อยู่ในฐานภาษี 400,000 กว่าราย ยังขาดอยู่อีก 200,000 ราย ที่ต้องนำเข้าระบบเช่นเดียวกัน “คนที่อยู่นอกระบบฐานภาษี ควรเร่งเข้าสู่ระบบในช่วงนี้ให้เร็วที่สุด เนื่องจากกรมสรรพากรจะไม่ทำการตรวจสอบย้อนหลัง คนที่อยู่นอกระบบแล้วเข้ามาอยู่ในระบบตอนนี้ แต่ในเร็วๆนี้ ฐานข้อมูลของกรมสรรพากรจะสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลภายในและภายนอกได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นการตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้น”

สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ (e-Business) ซึ่งจะบังคับให้ผู้ประกอบการในระบบออนไลน์ที่อยู่ในต่างประเทศที่มาทำการค้าในประเทศไทยจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยนั้น ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...เพื่อรองรับ การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็ก-ทรอนิกส์ (e-Business) ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2562 ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 30 ก.ย.2562 ที่ผ่านมานั้น กรมสามารถจัดเก็บได้ 2.009 ล้านล้านบาท เกินกว่าเป้าหมายในเอกสารงบประมาณ 9,140 ล้านบาท หรือเกินกว่าเป้าหมาย 0.5% ส่วนหนึ่งมาจากการนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) มาช่วยในการตรวจสอบการเสียภาษี ทำให้กรมสามารถจัดเก็บภาษีที่เคยรั่วไหลจากส่วนต่างๆ ได้มากขึ้น
“มาตรการบัญชีเล่มเดียว หรือมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ที่กรมสรรพากรดำเนินการไปในช่วงปีงบประมาณ 2562 โดยเปิดให้ธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ยื่นปรับปรุงบัญชีใหม่โดยไม่เสียค่าปรับและเงินเพิ่ม แต่ต้องยื่นเสียภาษีในระบบการให้บริการยื่นเอกสารต่างๆ ผ่านทาง อิเล็กทรอนิกส์ (e-filing) เป็นเวลา 12 เดือนนั้น ทำให้กรมสรรพากรได้รับเม็ดเงินภาษีเพิ่มเติมจากการยื่นปรับปรุงบัญชีราว 3,000 ล้านบาท”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า นโยบายการ เก็บภาษีในปีงบประมาณ 2563 กรมสรรพากรจะนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) มาใช้ในการจัดเก็บภาษี เริ่มตั้งแต่การปรับกระบวนการลงทะเบียนยื่นภาษี เสียภาษี และคืนภาษี ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 100% หลังจากนั้นจะนำระบบ data analytics เข้ามาวิเคราะห์และตรวจสอบการเสียภาษีด้วย โดยกลุ่มที่กรมสรรพากรอยากให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น คือ กลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ที่ปัจจุบันอยู่ในระบบภาษีค่อนข้างน้อย

ทั้งนี้ ระบบ data analytics จะเก็บข้อมูลของผู้เสียภาษีทุกคน เช่น การยื่นแบบแสดงรายการภาษีประเภทต่างๆ ไปจนถึงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ข้อมูลประกัน เป็นต้น จากนั้นระบบจะวิเคราะห์และจัดกลุ่มผู้เสียภาษีเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มดีที่อยู่ในฐานภาษี 2.กลุ่มดี ที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี 3.กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในฐานภาษี และ 4.กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี ทั้งนี้กลุ่มดีที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง กรมสรรพากรจะอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น คืนภาษีให้เร็วขึ้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลีกเลี่ยงภาษี ก็จะถูกติดตามจากกรมสรรพากรอย่างใกล้ชิด เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ