"ศักดิ์สยาม" จ่อหั่น "ค่ารถไฟฟ้า MRT" สายสีม่วงเหลือ 20 บาทตลอดสาย เดินทาง 2 ต่อเหลือ 47 บาทต่อเที่ยว รฟม.เตรียมเคาะ 19 พ.ย.นี้ หลังล่าช้า เพราะบอร์ดรัฐวิสาหกิจไขก๊อก ด้วยสาเหตุทางการเมือง
ภายหลังที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ไปศึกษาการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่เปิดให้บริการ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงนั้น
วันที่ 13 พ.ย. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน จะพิจารณาเรื่องการลดภาระค่าครองชีพด้านรถไฟฟ้าให้กับประชาชน ดังนี้
มาตรการที่ 1 เปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยตั๋วประเภทนี้จะคิดอัตราค่าโดยสารต่อเที่ยวถูกลง จากปกติการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดในอัตรา 70 บาทต่อเที่ยว โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) ตั๋วโดยสารร่วมจำนวน 15 เที่ยว ราคา 780 บาท คิดเป็นอัตราค่าโดยสาร 52 บาท/เที่ยว 2) ตั๋วโดยสารร่วมจำนวน 25 เที่ยว ราคา 1,250 บาท คิดเป็นอัตราค่าโดยสาร 50 บาท/เที่ยว 3) ตั๋วโดยสารร่วมจำนวน 40 เที่ยว ราคา 1,920 บาท คิดเป็นอัตราค่าโดยสาร 48 บาท/เที่ยว และ 4) ตั๋วโดยสารร่วมจำนวน 50 เที่ยว ราคา 2,350 บาท คิดเป็นอัตราค่าโดยสาร 47 บาท/เที่ยว
มาตรการที่ 2 ลดอัตราค่าโดยสารในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ระหว่าง เวลา 09.00-15.30 น. และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งปัจจุบันเก็บอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 14-42 บาท/เที่ยว โดยมีรายละเอียดดังนี้
เดินทางเข้า-ออกระบบในสถานีแรก ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เก็บค่าโดยสาร 14 บาทเท่าเดิม สถานีที่ 2 เก็บค่าโดยสาร 17 บาทเท่าเดิม สถานีที่ 3 เป็นต้นไป เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รฟม. จะเสนอเรื่องต่างๆ ที่ตกค้างให้บอร์ดพิจารณาด้วย เช่น การพิจารณาผลงานของผู้ว่าการ รฟม. และผลการดำเนินงานของ รฟม.เป็นต้น เนื่องจากเพิ่งปิดปีงบประมาณ 2562 ไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเรื่องค้างอยู่จำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว กรมการขนส่งทางราง (ขบ.) ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นอธิบดีในขณะนั้น ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะบอร์ดของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมส่วนใหญ่ได้ลาออกด้วยเหตุผลทางการเมือง