ออก 4 มาตรการสกัดบาทแข็ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ออก 4 มาตรการสกัดบาทแข็ง

Date Time: 7 พ.ย. 2562 08:02 น.

Summary

  • ธปท.ออก 4 มาตรการ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์นำเงินออกนอกประเทศ หวังลดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด กดค่าบาทให้อ่อนลง รวมทั้งการเพิ่มวงเงินที่ผู้ส่งออกจะพักเงินไว้ในต่างประเทศ

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย


ธปท.ผ่อนคลายกฎเกณฑ์นำเงินออกนอกประเทศ

ธปท.ออก 4 มาตรการ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์นำเงินออกนอกประเทศ หวังลดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด กดค่าบาทให้อ่อนลง รวมทั้งการเพิ่มวงเงินที่ผู้ส่งออกจะพักเงินไว้ในต่างประเทศ ให้นักลงทุนออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และให้ซื้อขายทองคำเป็นเงินตราต่างประเทศได้ การันตีค่าเงินบาทอ่อนลงแน่นอน เพราะมี 2 แรงช่วยกัน ทั้งลดดอกเบี้ยนโยบาย และออกมาตรการค่าเงินบาท

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินตราต่างประเทศ ที่ไหลเข้ามาและการไหลออกของเงินทุน ลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ช่วยให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น โดยมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศครั้งนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ มี 4 มาตรการ มีผลตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.นี้

สำหรับมาตรการที่ 1.คือการยกเว้นการนำรายได้จากการส่งออกกลับเข้ามาในประเทศ โดยจากเดิมการส่งออกต่อครั้ง หรือต่อใบขนของผู้ส่งออก ถ้ามีรายได้มากกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ หากไม่มีธุรกรรมที่ต้องดำเนินการในต่างประเทศต่อเนื่อง ธปท.กำหนดให้ผู้ส่งออกนำเงินกลับเข้าประเทศภายในเวลาที่กำหนด ไม่ให้ค้างไว้ในต่างประเทศ แต่เกณฑ์ใหม่นี้ เพื่อให้ผู้ส่งออกพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อทำธุรกรรม หรือลงทุนได้มากขึ้น ช่วยลดแรงกดดันของการนำเงินเข้าตราต่างประเทศลดการแข็งค่าของเงินบาท จึงได้เพิ่มวงเงินต่อใบขนที่สามารถพักเงินไว้ในต่างประเทศได้ หากมีรายได้ไม่เกิน 200,000 เหรียญต่อใบขนส่งสินค้า ซึ่งครอบคลุมใบขนได้ 50% ของการส่งออกทั้งหมด และในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเหรียญต่อใบขน ให้ครอบคลุม 80%

2.คือ การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เป็นครั้งแรกที่จะอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ด้วยตัวเองได้ โดยไม่ผ่านตัวกลาง วงเงินลงทุน 200,000 เหรียญสหรัฐฯต่อปี จากเดิมต้องเป็นผู้ที่มีเงินรายได้เกิน 50 ล้านบาท หรือต้องลงทุนผ่านตัวกลาง โดยให้นักลงทุนมาขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และแจ้งยอดคงค้างการลงทุนให้ ธปท.รับทราบทุกปี ช่วยทำให้คนไทยจำนวนมากที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในต่างประเทศ มีที่ลงทุนได้เหมาะสม และกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น ลดต้นทุนค่าบริการจัดการเงิน และต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ต้องทำผ่านตัวกลาง แต่กรณีนี้นักลงทุนต้องมั่นใจว่ามีความรู้ทางการเงินและรับความเสี่ยงได้จริง ถ้าไม่แน่ใจอาจต้องลงทุนผ่านตัวกลางต่อไป และ ธปท.ยังได้เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายปี จากเดิม 100,000 ล้านเหรียญ เป็น 150,000 ล้านเหรียญ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศ

3.จะเป็นการเพิ่มจำนวนการโอนเงินออกไปนอกประเทศ โดยปรับเป็นการโอนเงินแบบเปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ จากเดิมที่โอนได้เฉพาะวัตถุประสงค์ที่ ธปท.กำหนด แต่ยังมียกเว้นเพียงในบางรายการ (negative list) อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และยังอนุญาตให้คนไทยโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรีไม่จำกัดวงเงิน ส่วนการโอนเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เพิ่มวงเงินไม่เกิน 50 ล้านเหรียญต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศจากเดิมกำหนดทำไม่เกิน 50,000 เหรียญต่อครั้ง เพิ่มเป็นไม่เกิน 200,000 เหรียญต่อครั้ง

4.คือการซื้อขายทองคำโดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเมื่อมีความผันผวน จะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในทองคำมากขึ้น ทำให้ราคาทองคำโลกปรับตัวขึ้น และคนไทยจะขายทองคำ ทำให้เงินบาทต้องรับแรงกระแทก 2 เด้ง ทั้งจากเงินลงทุนที่เข้ามาพักในไทยโดยตรง และยังมีเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการขายทองคำมาเพิ่ม จึงอนุญาตให้ลูกค้าคนไทย ที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาค่าทอง ในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD โดยลูกค้าเก็บเงินตราต่างประเทศ จากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป ฯลฯ เพื่อทำให้การซื้อขายทองคำไม่กระทบเงินบาท ลดการแปลงค่าเงินของบริษัทผู้ค้าทองคำและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอีกทางหนึ่ง

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เชื่อว่าเงินบาทช่วงต่อไปจะอ่อนค่าลงได้ เพราะมี 2 แรงมาช่วยกัน ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน 0.25% และการออกมาตรการดูแลค่าบาท โดยจะประเมินผลการออกมาตรการทุกๆ 3 เดือน หากยังไม่เพียงพอ อาจมีการออกมาตรการเพิ่มเติมได้อีก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ