ครม.ตั้งแล้วบอร์ดรถไฟ ชุดใหม่ ถกด่วน 16 ต.ค. เดินหน้าเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ตามกำหนด 25 ต.ค.นี้ พร้อมลุยดำเนินคดีโฮปเวลล์ ทั้งแพ่ง-อาญา
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด รฟท.แล้ว และหลังจากนี้จะมีการเดินหน้าทำงานต่อไป โดยได้รับรายงานจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะมีการลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ส่วนการที่เอกชนยื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นสิทธิของเอกชนที่จะดำเนินการ ในขณะที่ภาครัฐจะต้องทำงานคู่ขนานไป
ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า บอร์ด รฟท.ชุดใหม่ 7 คน มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานกรรมการ, นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์, นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด, นายธันวา เลาหศิริวงศ์ อดีตกรรมการอิสระ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.ทีพีบีไอ (TPBI), นายพินิจ พัวพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บล.เคที ซีมิโก้ เป็นกรรมการ, นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ และนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. ในฐานะกรรมการเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะกรมการ รฟท.ชุดใหม่ จะมีการประชุมนัดแรกอย่างเร่งด่วนในช่วงบ่ายวันที่ 16 ต.ค. เพื่อพิจารณาโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีกำหนดลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งหากดำเนินการภายใต้กรอบ เงื่อนไข RFP และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ต้องยกเลิกสัญญา โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จะมีการประชุมพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการในช่วงเช้าวันที่ 16 ต.ค.
นอกจากนี้จะมีการพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,421 ล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ที่มีการปรับกรอบวงเงินจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท
รวมถึงพิจารณามอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมาย รฟท.ยื่นศาลแพ่งเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคณะทำงานได้พบข้อมูลจะสามารถยื่นฟ้องได้ ในประเด็นการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ได้รับการยกเว้น ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) และได้ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อยื่นฟ้องทางอาญาด้วย.