เลื่อนเซ็นสัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน “ศักดิ์สยาม” สะดุดขาตัวเอง จาก 15 ต.ค. เป็น 25 ต.ค. เหตุบอร์ดรฟท.ลาออกยกชุด เร่งเสนอ ครม.ตั้งบอร์ดชุดใหม่ มั่นใจเซ็นสัญญา "ซีพี" ได้ทันกำหนดแน่
วันที่ 8 ต.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มีการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีเอกสารแนบท้ายสัญญาโครงการดังกล่าว ขัดกับข้อกำหนดเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal หรือ RFP)
ขณะเดียวกันยังได้ขีดเส้นที่จะให้กลุ่มกิจการร่วมค้า กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ผ่านการพิจารณา ต้องมาเซ็นสัญญาวันที่ 15ต.ค. หากไม่มาเซ็นสัญญาตามกำหนด จะต้องถูกริบหลักประกันซอง และอาจถูกพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งทำให้ต้องถูกแบล็กลิสต์รับงานในอนาคต
ล่าสุด แนวทางต่างๆ ที่ร่วมกับนายอนุทิน ได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอด กลับมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้การเซ็นสัญญาในโครงการฯ จากเดิมกำหนดว่าจะต้องเซ็นในวันที่ 15 ต.ค.นี้ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากขณะนี้ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ยื่นหนังสือลาออกทั้งชุดไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากมีการลงนามตามกำหนดการเดิมในวันที่ 15 ต.ค.นี้จะส่งผลให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะทันที เนื่องจากหากไม่มีบอร์ด รฟท. สัญญาจะไม่มีผลผูกพันกับการรถไฟจากกรณีนี้ จึงถือเป็นสิทธิที่ผู้ว่าจ้าง คือ รฟท.สามารถที่จะแจ้งเลื่อนวันเซ็นสัญญาได้ สาเหตุมาจากความจำเป็นดังกล่าว
"ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้มีการเสนอรายชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว โดยเป็นการเสนอรายชื่อคู่เทียบไปให้สคร.พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งนี้ ผู้เสนอ ไม่มีอำนาจไปกำหนดว่าจะเลือกใคร อย่างไรก็ตามเมื่อ สคร.พิจารณาแล้วเสร็จ จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อเห็นชอบ จากนั้นจะส่งกลับมาให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อ ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า"
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ นายศักดิ์สยาม คาดว่าแม้ว่าจะมีเวลากระชั้นชิด แต่ก็มั่นใจว่าเมื่อได้บอร์ด รฟท.ชุดใหม่แล้ว จะยังเดินหน้าเซ็นสัญญากับกลุ่มซีพีได้ทันภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้แน่นอน
สำหรับข้อเสนอของกลุ่ม CPH (ซีพี) พบว่ามีราคา Net Present Value (มูลค่าปัจจุบันสุทธิ) อยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอของทางกลุ่ม BSR ที่เสนอมาในมูลค่า 169,934 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราว 52,707 ล้านบาท อีกทั้งยังต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.มีมติอนุมัติให้รัฐร่วมลงทุนในโครงการ ในวงเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 119,425 ล้านบาท.