“นิด้าโพล” เผยคนส่วนใหญ่ไม่ลงทะเบียน ”ชิมช้อปใช้” เพราะขั้นตอนยุ่งยาก ขณะที่ผู้ลงทะเบียน มีแผนใช้จ่ายที่ห้าง แนะปรับปรุงระบบลงทะเบียนให้ง่ายขึ้น ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ชิมช้อปใช้...ถูกใจหรือไม่” จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงการ “ชิมช้อปใช้” สนับสนุนวงเงินคนละ 1,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยเมื่อถามประชาชนถึงการลงทะเบียนโครงการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.37 ระบุว่า จะไม่ลงทะเบียน เพราะระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยากซับซ้อน ลงยังไงก็ไม่สำเร็จ โทรศัพท์ที่ใช้ไม่รองรับแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีเวลา/ไม่สะดวกที่จะลงทะเบียน ยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการ และไม่สนใจ/ไม่เห็นด้วย กับโครงการนี้เลย รองลงมา ร้อยละ 25.61 ระบุว่า ได้ลงทะเบียนแล้ว และร้อยละ 16.02 ระบุว่า กำลังจะลงทะเบียน
สำหรับแผนการใช้จ่ายโครงการ “ชิมช้อปใช้” ของผู้ที่ได้ลงทะเบียนแล้วและกำลังจะลงทะเบียน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.52 ระบุว่า ได้ใช้/มีแผนจะใช้จ่ายที่ห้างสรรพสินค้า/ซุปเปอร์สโตร์ รองลงมา ร้อยละ 34.10 ระบุว่า ร้านค้าทั่วไปที่เข้าโครงการ ร้อยละ 16.57 ระบุว่า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 15.24 ระบุว่า ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้อยละ 3.62 ระบุว่า ร้านในกลุ่ม OTOP ร้อยละ 2.29 ระบุว่า โรงแรมโฮมสเตย์ ร้อยละ 2.10 ระบุว่า ร้านวิสาหกิจชุมชน และร้อยละ 9.52 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.36 ระบุว่า เปลืองงบประมาณ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง รองลงมา ร้อยละ 27.28 ระบุว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี ร้อยละ 25.54 ระบุว่า ระบบและกติกาการใช้จ่ายยุ่งยากซับซ้อนเกินไป ร้อยละ 19.59 ระบุว่า ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ร้อยละ 13.80 ระบุว่า พ่อค้า นายทุนได้ประโยชน์ จากโครงการนี้ ร้อยละ 13.72 ระบุว่า เป็นมาตรการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม
ขณะที่ร้อยละ 8.96 ระบุว่า เป็นโครงการทำให้คนได้ออกไปเที่ยว ชิมช้อปใช้ กับครอบครัว ร้อยละ 8.09 ระบุว่า เป็นโครงการประชานิยม หาเสียงกับชนชั้นกลาง ร้อยละ 3.17 ระบุว่า ระบบของร้านค้า/ห้าง ยังไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินจากโครงการ ร้อยละ 2.78 ระบุว่า สร้างความเท่าเทียมกัน เมื่อคนจนได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนชั้นกลางก็ได้ “ชิมช้อปใช้” ร้อยละ 2.54 ระบุว่า ระบบของธนาคารกรุงไทยยังไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินจากโครงการ ร้อยละ 1.35 ระบุว่า ระบบและกติกาการใช้จ่ายทำให้สามารถควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และร้อยละ 6.26 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อภาพรวมโครงการ “ชิมช้อปใช้” พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.95 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 25.62 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 22.60 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 21.09 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.74 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการ “ชิมช้อปใช้” ของรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.19 ระบุว่า ปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น เช่น ปรับปรุงระบบและขั้นตอนการลงทะเบียนให้ง่ายขึ้น ผู้สูงอายุก็สามารถทำเองได้ด้วยตนเอง หรือมีการลงทะเบียน ที่ธนาคารกรุงไทย มีช่วงเวลาในการลงทะเบียนที่ชัดเจน ให้สิทธิกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ใช้สิทธิได้ทุกที่ ทุกจังหวัด และอยากให้เพิ่มวงเงิน เพิ่มร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
ขณะที่บางส่วนระบุว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ควรเป็นร้านวิสาหกิจชุมชน ร้านในกลุ่มสินค้า OTOP ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รองลงมา ร้อยละ 34.10 ระบุว่า ยกเลิกโครงการ ร้อยละ 19.74 ระบุว่า ดำเนินโครงการต่อไป และร้อยละ 3.97 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.