นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงข้อกังวลต่อการเตรียมกู้เงินของรัฐบาล ที่ส่งผลต่อภาระหนี้และการบริหารจัดการในอนาคต ว่า ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดให้การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จะต้องใช้เพื่อการลงทุนเท่านั้น
ซึ่งการลงทุนที่ผ่านมามีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา เช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งโครงการพัฒนาเชิงสังคม เช่น โครงการพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาการศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งเป็นโครงการที่ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ
“เงินกู้ทุกบาทของรัฐบาล ก่อให้เกิดรายได้กลับคืนมายังประเทศ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เห็นได้จากปี 2557-2561 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และรายได้ของรัฐบาล มีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ”
ทั้งนี้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ได้กำหนดสัดส่วนทางการเงินการคลังต่างๆ เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงสัดส่วนงบประมาณ เพื่อการชำระหนี้เพื่อเพิ่มวินัยในการชำระคืนต้นเงิน สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ที่เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ก็ได้กำหนดกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง เพื่อกำกับติดตามและประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดด้วย ฯลฯ ขณะที่การประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศ ก็ยังยืนยันฐานะการคลังที่มั่นคงของไทยในปัจจุบัน และความสามารถในการชำระหนี้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี สูงกว่ากลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกัน เป็นต้น.