ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเงิน 500 บัตรคนจน-ผู้สูงอายุ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเงิน 500 บัตรคนจน-ผู้สูงอายุ

Date Time: 20 ส.ค. 2562 16:19 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ทยอยบังคับใช้ตั้งแต่ ก.ย. ทั้งช่วยเหลือเกษตรกร เอสเอ็มอี ท่องเที่ยว ดูแลค่าครองชีพ เพิ่มเงินบัตรคนจนและผู้สูงอายุ เป็น 500 บาท

ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ทยอยบังคับใช้ตั้งแต่ ก.ย. ทั้งช่วยเหลือเกษตรกร เอสเอ็มอี ท่องเที่ยว ดูแลค่าครองชีพ เพิ่มเงินบัตรคนจนและผู้สูงอายุ เป็น 500 บาท ช่วง ส.ค.-ก.ย.

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ตามที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ไปแล้วในสัปดาห์ก่อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว, การช่วยเหลือเกษตรกร, การดูแลค่าครองชีพ, การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น ซึ่งในแต่ละมาตรการจะค่อยๆ ทยอยมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.เศรษฐกิจ ประกอบด้วยมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยจัดสินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาท/คน ปลอดดอกเบี้ยปีแรก ปีต่อปี MRR 7%, สินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภัยแล้ง 500,000 บาท/คน ดอกเบี้ย MRR -2%, ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ สนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าวปีการผลิต 62/63 ที่ 500-800 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่

มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ โดยสนับสนุนท่องเที่ยว "ชิม ช๊อป ใช้" ข้ามจังหวัด โดยให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงไทย วางเป้าหมาย 10 ล้านคน ประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสำหรับท่องเที่ยวผ่านอีวอลเลท 1,000 บาท/คน และมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าท้องถิ่น รับประทานอาหาร พักโรงแรม ต่างๆ รวมกันไม่เกิน 3 หมื่นบาท จะได้รับเงินคืน 15% เป็นต้น

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้หักค่าใช้จ่ายการซื้อเครื่องจักรจากการลงทุนหักภาษี 1.5 เท่า ภายใน 5 ปี และให้สินเชื่อผ่อนปรนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะเวลากู้ 7 ปี

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินรัฐ ให้เร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน รวม 1 แสนล้านบาท และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อบ้าน 52,000 ล้านบาท และให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีในช่วง 2 ปีแรก

มาตรการดูแลค่าครองชีพผ่านกลไกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วง 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) เพิ่มเงินผู้ถือบัตรเป็น 500 บาท/คน/เดือน, เพิ่มเงินผู้สูงอายุอีก 500 บาท/คน/เดือน และให้เงินดูแลเด็กแรกเกิดเพิ่ม 300 บาท/คน/เดือน

รวมถึงการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ที่จ่ายคืนผ่าน ธ.ก.ส.และออมสิน 1 ปี (ต.ค. 62-ก.ย. 63) เพื่อให้ กทบ.มีงบประมาณปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่ง กทบ. 50,732 แห่งมียอดหนี้คงค้างที่กู้จาก ธ.ก.ส.และออมสิน 67,000 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์