สถาบันอัญมณีฯ เตรียมพัฒนาผู้ประกอบการเครื่องประดับเงิน-ทองท้องถิ่น สุโขทัย ให้ผลิตสินค้าร่วมสมัย ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ลุยสร้าง Thai Heritage ทำมาตรฐานทองไทยโบราณเหมือนกันทั้งประเทศ
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ปลายเดือน ส.ค.นี้ จีไอที จะลงพื้นที่ จ.สุโขทัย ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ การพัฒนาเทคนิคการผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในสุโขทัย โดยเน้นเครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับทอง ให้สามารถพัฒนาสินค้าให้มีลักษณะร่วมสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน และผลักดันสินค้าท้องถิ่นออกสู่ตลาดต่างประเทศ
พร้อมกันนั้น จะช่วยสร้างมาตรฐานเครื่องประดับทองไทยโบราณ หรือ Thai Heritage เพื่อสร้างแนวทางในการอนุรักษ์ศิลปะ และงานฝีมือโบราณของทองสุโขทัย ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยจะจัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการ ร้านทอง ครูช่าง เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการรวมรูปแบบของทองโบราณ หลักเกณฑ์การจำแนกลวดลายทองโบราณและทองร่วมสมัย เกณฑ์ความบริสุทธิ์ของทองโบราณ เพื่อสร้างมาตรฐานของเครื่องประดับทองไทย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ขณะเดียวกัน จะแนะนำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการท้องถิ่น มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการรับรองคุณภาพเครื่องประดับโลหะมีค่าตามมาตรฐาน Hallmark เผยแพร่โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy With Confidence : BWC) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ BWC จะได้สินค้าดี มีคุณภาพมาตรฐาน และการตรวจสอบโลหะมีค่า เพราะการผลิตเครื่องประดับในสุโขทัยนิยมใช้เงิน และทองคำเป็นตัวเรือนหลัก เพื่อสร้างมาตรฐานและคุณภาพให้เทียบเท่าระดับสากล
นางดวงกมล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ จีไอทีได้ช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในจังหวัดกาญจนบุรี โดยนำร่องนำ “นิล” ซึ่งมีมากในกาญจนบุรีมาออกแบบโดยหยิบยกอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างเครื่องประดับร่วมสมัยและเป็นที่นิยมในท้องตลาด รวมถึงช่วยในด้านการทำตลาดออนไลน์ด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังปี 62 จีไอทีวางแผนลงพื้นที่ 10 จังหวัด เพื่อพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างยั่นยืน ได้แก่ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตาก พังงา สตูล ตราด กาญจนบุรี นครราชสีมา และแพร่ โดยจะเน้นการอบรมหลักสูตรด้านอัญมณีศาสตร์ ทักษะเชิงช่าง การออกแบบเครื่องประดับ รวมถึงความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดในยุคดิจิตัล เพื่อต่อยอดสร้างสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน.