ภาพจากแฟ้มข่าว
กรมการค้าภายใน เตรียมเปิดตัว “ร้านธงฟ้า 4.0” 28 แห่งในจ.ขอนแก่น สิ้นเดือนส.ค.นี้ หลังลุยปรับโฉมใหม่ ให้เป็นมืออาชีพในการทำธุรกิจมากขึ้น หวังเสริมแกร่งให้สู้ศึกยักษ์ค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อได้
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านธงฟ้าพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยได้เข้าไปช่วยปรับโฉมร้านธงฟ้าประชารัฐใหม่ให้เป็นร้านค้า 4.0 ที่เน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการร้าน ทั้งระบบขายของหน้าร้าน (พีโอเอส) การพัฒนาเป็นจุดรับชำระค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต เป็นต้น และผลักดันให้เป็นจุดกระจายสินค้าให้กับร้านค้าธงฟ้าอื่นๆ รวมทั้งจะพัฒนาให้มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้าขายออนไลน์
“หลังจากที่กรมได้ช่วยพัฒนาปรับโฉมแล้ว ในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ จะมีการเปิดตัวร้านธงฟ้าโฉมใหม่ยุค 4.0 เริ่มที่จังหวัดขอนแก่น 28 อำเภอ 28 ร้านก่อน ซึ่งหน้าตาของร้าน จะเปลี่ยนใหม่ การจัดวางสินค้าที่เป็นระเบียบ มีป้ายไฟติดให้เห็นชัดเจนว่าเป็นร้านธงฟ้าพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น มีความทันสมัย ซึ่งป้ายไฟนี้ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย เครือสหพัฒน์ และผู้ประกอบการรายอื่นๆ”
นายวิชัย กล่าวว่า ตามเป้าหมาย กรมจะผลักดันให้มีร้านธงฟ้า 4.0 ให้ได้อำเภอละ 1 แห่ง หรือรวม 878 แห่งทั่วประเทศ มั่นใจว่า ร้านธงฟ้าที่ปรับโฉมใหม่ จะดึงดูดและจูงใจให้ประชาชนอยากเข้ามาใช้บริการ เพราะสิ่งที่ร้านค้าธงฟ้ามี คือ ความเป็นชุมชน การเป็นเพื่อนบ้าน เกษตรกรและชุมชนได้มีส่วนร่วมในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย อันเป็นเสน่ห์ที่ร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ หรือร้านสะดวกซื้อไม่มี
สำหรับร้านค้าธงฟ้าที่ต้องการเข้าร่วมพัฒนาเป็นร้านธงฟ้า 4.0 กรมได้ประสานให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยปล่อยกู้ เพื่อให้มีเงินทุนในการพัฒนาร้าน ซื้อสินค้า โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมที่ช่วยค้ำประกันให้ และยังได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้า จากผู้ผลิตในจังหวัดต่างๆ แบบข้ามจังหวัด และข้ามภาค โดยเปิดโอกาสให้ร้านธงฟ้าเจรจาจับคู่กับผู้ผลิต และเกษตรกร รวมทั้งประสานบริษัทขนส่งช่วยรับส่งสินค้าจากผู้ผลิตมายังร้านค้า เพื่อลดต้นทุน และทำให้ขายสินค้าได้ถูกลงด้วย
ปัจจุบัน มีร้านค้าสมัครเข้าเป็นร้านธงฟ้ารวม 83,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งร้านค้าแบบติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (ดีอีซี) และแบบใช้แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการเดือน ต.ค.60 จนถึงเดือน ส.ค.62 มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าสู่ร้านค้าประมาณ 75,000 ล้านบาท.