ขมึงทึงผู้ค้าออนไลน์ต้องแจ้งราคา ห้ามให้ลูกค้าถามทาง Inbox

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ขมึงทึงผู้ค้าออนไลน์ต้องแจ้งราคา ห้ามให้ลูกค้าถามทาง Inbox

Date Time: 17 ก.ค. 2562 08:12 น.

Summary

  • นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านสายด่วน 1569 เข้ามาอย่างต่อเนื่อง กรณีผู้ค้าขายสินค้าออนไลน์ ทั้งทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์

Latest

“ซื้อบ้าน” หลังแรก กับหลักวางแผนการเงิน รายได้เหยียบแสน แต่ไม่หยุด สร้างหนี้ใหม่ ก็อาจเป็นแค่ฝัน


ไล่ล่าไลฟ์สดขายของละเมิด

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านสายด่วน 1569 เข้ามาอย่างต่อเนื่อง กรณีผู้ค้าขายสินค้าออนไลน์ ทั้งทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ และเว็บไซต์ ไม่ปิดป้ายแสดงราคาขายสินค้าและบริการให้ชัดเจน แต่มักจะใช้วิธีการให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการสอบถามทาง Inbox และส่งราคาซื้อขายทาง Inbox แทน ซึ่งกรมได้เปรียบเทียบปรับเกือบทุกวันและยืนยันว่ากรมจะดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้ เพราะการไม่ปิดป้ายแสดงราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ถูกผู้ค้าเอารัดเอาเปรียบด้วย “ผมเซ็นปรับเกือบทุกวัน การร้องเรียนก็มีเข้ามาเกือบทุกวัน ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตาม แต่ยอมรับว่าบางรายหาตัวได้ยาก เพราะไม่สามารถค้นหาที่ตั้งได้ชัดเจน เหมือนร้านค้าทั่วไป อยากจะฝากผู้บริโภค ขอให้ช่วยรวบรวมหลักฐานให้ชัดเจน ทั้งการแคปข้อความที่พูดคุย การแจ้งราคาทาง Inbox หรือถ้ามีบัญชีธนาคารของพ่อค้าแม่ค้ามายืนยัน ก็จะช่วยให้ตามจับได้ง่ายขึ้น”

ทั้งนี้ กรมได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ โดยมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนผู้ที่แจ้งเบาะแส จะได้รับสินบนนำจับ 25% ของเงินค่าปรับ เช่น หากปรับสูงสุด 10,000 บาท ก็จะได้รับส่วนแบ่ง 2,500 บาท

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า วันที่ 19 ก.ค.นี้ กรมจะจัดสัมมนาเกี่ยวกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนเจ้าของสิทธิ์และตัวแทนเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ชั้นนำ เช่น ลาซาด้า, ช็อปปี้, เฟซบุ๊ก, กูเกิล เป็นต้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลังได้รับการร้องเรียนจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ว่า มีการใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในการขายสินค้าละเมิด และเจ้าของสิทธิ์ต้องการให้เจ้าของเว็บไซต์บล็อกหรือถอดผู้ค้าที่ใช้เฟซบุ๊กไลฟ์สดขายสินค้าละเมิด แต่กระบวนการบล็อกหรือถอดออกยังล่าช้า เพราะเจ้าของเว็บไซต์ไม่แน่ใจว่า ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ในไทยที่ร้องเรียนมา เป็นตัวแทนจริงหรือไม่ จึงต้องมีการตรวจสอบก่อน และใช้เวลาหลายวันกว่าจะตรวจสอบได้ จึงต้องการให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ